หนุน “ลิ้นจี่แม่ใจ” พะเยา ใช้ FTA เจาะตลาดส่งออก

ลิ้นจี่

ลิ้นจี่ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดพะเยา สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา” ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่ต้องเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอแม่ใจ หอมอร่อย หวานอมเปรี้ยว เนื้อแห้ง สีสวย

เป็นลิ้นจี่เกรดพรีเมี่ยม สามารถขายได้ราคาสูง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการขายทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

“ยอดชัย มะโนใจ” ประธานกลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย เปิดเผยว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2512 ได้ปลูกลิ้นจี่ในสวน 12 ต้น สายพันธุ์ฮงฮวย ซึ่งถือว่าเป็นลิ้นจี่ต้นแรกของ อ.แม่ใจ เป็นจุดสาธิตและขยายพันธุ์ให้กับเกษตรกร

ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี รสชาติอร่อย ซึ่งในพื้นที่ก็ได้มีการปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกประมาณ 100 กว่าไร่ มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ฮงฮวย, กะโหลกใบขิง, โอเฮียะ รวม 1,700 กว่าต้น มีสมาชิกทั้งหมด 9 คน ซึ่งเราจะมีการคัดเฉพาะเกษตรที่มีใจและเอาใจใส่ผลผลิต

“เมื่อก่อนเกษตรกรมีการปลูกลิ้นจี่จำนวนมากแต่ไม่ได้รักษาคุณภาพ ส่งผลให้ลิ้นจี่ล้นตลาดราคาตกต่ำ ต่อมากลุ่มของเราก็ได้มีการปรึกษาทำอย่างไรให้ลิ้นจี่มีคุณภาพและได้ราคาสูง สามารถกำหนดราคาเองได้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและเป็นกลุ่มแรกที่สามารถกำหนดราคาขายลิ้นจี่ได้”

การบริหารจัดการให้ลิ้นจี่ได้คุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่การตัดตกแต่งกิ่งและลำต้น ให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีการใส่ปุ๋ยชีวภาพ โดยช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ต้นลิ้นจี่จะเริ่มแทงช่อ เกษตรกรต้องดูแลเพื่อไม่ให้มีแมลงและหนอนมาทำลาย

ถ้าไม่มีการดูแล ผลผลิตจะออกน้อย ต่อมาช่วงปลายเดือนมกราคม ช่อลิ้นจี่จะเริ่มบานเพื่อผสมพันธุ์เกสร และจะเริ่มออกผลในเดือนเมษายนลิ้นจี่จะเริ่มออกสี ผลผลิตสมาชิกของเรา 90% ต้องมีการห่อเพื่อให้มีรสชาติที่หอมหวาน กรอบอร่อย รวมถึงป้องกันโรคและแมลงต่าง ๆ ทำให้ผลผลิตออกมาแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ

“แต่ละช่วงเกษตรต้องใส่ใจเป็นอย่างมากเพราะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้รู้ว่าจะได้ผลผลิตมากหรือน้อย ขณะเดียวกันก็ขึ้นกับสภาพอากาศด้วย เช่น ปี’61 ได้ผลผลิตประมาณ 25 ตันกว่า, ปี’62 ได้ 12 ตันกว่า, ปี’63 ได้ 25 ตันกว่า, ปี’64 ได้ 36 ตันกว่า, ปี’65 ได้ผลผลิต 31 ตันกว่า”

เนื่องจากลิ้นจี่กลุ่มของเราได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ทำให้ขายได้ในราคาที่ค่อนข้างสูง ราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม ปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 1.4 ล้านบาท ปัจจุบันช่องทางการขายคือ ขายหน้าสวน ล้งในพื้นที่ หน่วยงานราชการ และห้างโมเดิร์นเทรด อาทิ เลม่อนฟาร์ม เดอะมอลล์

“กลุ่มเกษตรกรเน้นเรื่องของการทำสินค้าคุณภาพ ทำให้การตลาดไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะมีเกี่ยวกับเรื่องผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ลิ้นจี่แม่ใจถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่ต้องเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาเท่านั้น

อีกทั้งมีจุดเด่นที่ความหอมอร่อย หวานอมเปรี้ยว เนื้อแห้ง สีสวย เป็นลิ้นจี่เกรดพรีเมี่ยม สามารถขายได้ราคาสูง สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการแปรรูป มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็งและเน้นแนวทางเกษตรปลอดภัย มีโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในจีนและอาเซียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด

ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกลิ้นจี่สดไปยังกลุ่มประเทศจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เป็นต้น มีอัตราภาษี 0% ขณะเดียวกันกลุ่มตะวันออกกลางเริ่มรู้จักและสนใจลิ้นจี่ เราก็มองว่าเป็นโอกาสที่จะขยายช่องทางจำหน่ายอีกหนึ่งช่องทาง โดยเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเป็นแต้มต่อในการขยายการส่งออกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้สู่ตลาดโลก 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10% ส่วนสินค้าลิ้นจี่ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งในปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรีแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ

โดยประเทศคู่ค้าที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าลิ้นจี่จากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน (ยกเว้น สปป.ลาว ที่ยังคงภาษี 5% สำหรับลิ้นจี่อบแห้ง) จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และชิลี ในขณะที่ 3 ประเทศคู่ FTA

ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ได้ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลิ้นจี่บางส่วน เมื่อปี 2564 ไทยส่งออกลิ้นจี่สดไปตลาดโลก 850 ตัน มูลค่า 27.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.37% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์