ชง “ตราดฟรุตวัลเลย์” ขึ้นแท่น “ยักษ์เล็กตะวันออก”

ท่องเที่ยวภาคตะวันออก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดประชุมสัญจร สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2565 ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ภายใต้แนวคิด “ฝ่าวิกฤตสู่โอกาส พัฒนาตราดก้าวทันโลก” นำเสนอมุมมองจากบรรดา big brother อย่างน่าสนใจ

ตราด “ยักษ์เล็กตะวันออก”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.บรรยายเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจโลก สู่อนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจตราด” ว่า เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และมีผลกระทบไปถึงปีหน้า เช่น ความผันผวนของค่าเงินประเทศต่าง ๆ การส่งออกลดลง ราคาน้ำมันสูง การขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนไทยยังห่วงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ภาวะเงินเฟ้อ การนำเข้าน้ำมันราคาสูง ไม่สมดุลกับการส่งออก และค่าเงินบาทอ่อน (ปลายปีนี้น่าจะถึง 40 บาท/ดอลลาร์) การดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ไทยเสียเปรียบเวียดนาม ซึ่งมีค่าไฟ ค่าแรงถูกกว่าและได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากประเทศคู่ค้ามากกว่า แต่ด้านการท่องเที่ยวได้ผลดี

ADVERTISMENT

“สำหรับแนวทางการพัฒนา จ.ตราด มีจุดแข็งด้านวัตถุดิบทางการเกษตร โดยนำยุทธศาสตร์ ส.อ.ท.มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพมูลค่าสูง ด้วยโมเดล BCG สร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด ภายใต้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (SAI) การพัฒนาฐานเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การทำประมงยั่งยืน

และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ประมง ส่งเสริมการปลูกและรับรองมาตรฐานไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC) และส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GPP) เพิ่มขึ้น จ.ตราด เป็น “ยักษ์เล็กภาคตะวันออก” ได้แน่นอน ส่วนภาคท่องเที่ยวต้องเป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับราคาเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าตัว”

ตาราง ศก.ภาคตะวันออก

ADVERTISMENT

“แนวทางการพัฒนา จ.ตราด ซึ่งมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบทางเกษตร ด้วยการนำยุทธศาสตร์ ส.อ.ท.มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพมูลค่าสูง มาขับเคลื่อนด้วยโมเดล BCG ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยการพัฒนาแหล่งเกษตรอินทรีย์ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยแนวทางการขับเคลื่อน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด

ภายใต้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (SAI) การพัฒนาฐานเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การพัฒนาการทำประมงยั่งยืน และการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ประมง การส่งเสริมการปลูกและรับรองมาตรฐานไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC) และส่งเสริมการปลูกป่า เพื่อทำการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

ถ้าได้รับความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ทำโปรเจ็กต์ร่วมกัน จังหวัดตราดเป็น “ยักษ์เล็กภาคตะวันออก” ได้แน่นอน ส่วนภาคการท่องเที่ยว เป้าหมายการตลาดต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับราคาเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าตัว”

นายสุริยนต์ ตู้จินดา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าชายแดน ส.อ.ท. กล่าวว่า จ.ตราด มีโอกาสทางการค้าเชื่อมโยงต่างประเทศได้หลายทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง สามารถพัฒนาสู่เวทีตลาดโลกได้ 4 ประเด็น

คือ 1) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า 3) บูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้เกิดประสิทธิภาพ และ 4) แก้ไขผังเมืองอย่างเร่งด่วน

พลิกโฉมเกษตรตะวันออก

นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวในหัวข้อ “พลิกโฉมเกษตรตะวันออก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า โครงการนำร่องของคณะทำงานส่งเสริมการจัดการคุณภาพผลผลิตเกษตร ประกอบด้วย โครงการผลิตกล้วยหอมทองของบริษัท ทีเค กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี มีการควบคุมและรักษาคุณภาพผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยก บรรจุ เก็บรักษา และขนส่ง

นอกจากนี้ ยังนำซากเหลือใช้มาทำปุ๋ยอินทรีย์และแปรรูปผลผลิตตกเกรด และโครงการนวัตกรรมเกษตรปลอดภัย โครงการผักปลอดภัยบ้านน้ำดุกใต้ จ.เพชรบูรณ์ และโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่เศรษฐกิจพอเพียง

โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรปลอดภัย แปรรูปและการตลาด กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 แผนงานจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาผลไม้สดเพื่อการส่งออก” เพื่อการผลิตที่ครบวงจรในพื้นที่ และส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง

นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สถาบันคาร์บอนเครดิต) กล่าวในหัวข้อ “ทิศทางพลังงานสะอาดกับโอกาสพลังงานไทย” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลและปรับตัวให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

แต่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกปาล์มเป็นอันดับ 3 ของโลก ต้องคิดอย่างรอบด้าน เช่น การหันมาพัฒนาพืชพลังงาน ต่อยอดจากไบโอดีเซล ไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมไบโอเคมี เช่น ผลิตน้ำมันเครื่องบินจากพืช หากพัฒนาพืชพลังงานจะตอบโจทย์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) และเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาสูงด้วย

ชง “ตราดฟรุตวัลเลย์”

นายธรา วัฒนวินิน ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า เป้าหมายอีก 5 ปี (2565-2570) GDP ภาคอุตสาหกรรม จ.ตราด ต้องมากกว่า 10% จ.ตราด พร้อมเป็นยักษ์เล็กภาคตะวันออก โดยสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เตรียมเสนอ โครงการตราดฟรุตวัลเลย์ (TRAT FRUITS VALLEY) ตามแนวทางการขับเคลื่อน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด พัฒนานวัตกรรมผลไม้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ใช้ต้นทุน จ.ตราด

ทั้งหมดมาบริหารจัดการในบริบทใหม่ ท่ามกลางความปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีดิสรัปชั่น สภาวะโลกร้อน และภาคพลังงานต้องปรับตัว สู่พลังงานสะอาด หากเสนอ ส.อ.ท.ของบประมาณระดับ 1,000 ล้านบาท เป็น new S-curve ภาคเกษตร จะมีครบทั้งเชน พลังงาน อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ สมุนไพร เครื่องสำอาง ยา ห้องเย็น อบแห้ง สกัด

ในกระบวนการขับเคลื่อน จังหวัดต้องตอบรับในแผนพัฒนาจังหวัด ทั้งนี้หาก ส.อ.ท.บรรจุในแผนและหาผู้ลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันสำเร็จได้

ภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมี GDP สูง 17.19% เพราะเป็นพื้นที่ EEC แต่อัตราส่วน GDP จ.ตราด ภาคเกษตรกรรม 47% ภาคบริการ 44% และภาคอุตสาหกรรมเพียง 9% การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เช่าพื้นที่เกือบ 900 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2559

ยังไม่คืบหน้า การจัดประชุมสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจึงเชิญ big brother มาช่วยกันขับเคลื่อนตามนโยบาย ส.อ.ท. “ONE FTI” รวมกันเป็นหนึ่งเดียวใน 3 ส่วนคือ “ONE VISON ONE TEAM ONE GOAL”