ชำแหละ ผังน้ำในผังเมือง เชียงใหม่จี้ผุดผังระดับตำบล แก้น้ำท่วม

ประชาพิจารณ์

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานล่าสุดว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ยังมีพื้นที่น้ำท่วมอีก 16 จังหวัด รวม 73 อำเภอ 580 ตำบล 4,056 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบถึง 222,466 ครัวเรือน

ยิ่งหลายจังหวัดเผชิญน้ำท่วมในย่านใจกลางเมือง ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเสียหายหนัก สาเหตุคือปีนี้น้ำมาก เพราะฝนตกหนักและถี่ ขณะที่การขยายตัวของเมืองต่างไร้ทิศทาง ทั้งมีการถมดินในพื้นที่ลุ่มต่ำ เท่ากับขวางทางน้ำ

กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงเร่งปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เน้นบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก หลังเกิดภัยพิบัติรุนแรงเกินคาด ผังเมืองใหม่จะมีการเพิ่มผังน้ำเข้าไป รวม 878 อำเภอทั่วประเทศ โดยจัดลำดับความสำคัญแต่ละจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน สุรินทร์ อุดรธานี สิงห์บุรี ราชบุรี ภูเก็ต เบตง ปัตตานี และ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2566

สทนช.ประชาพิจารณ์ผังน้ำ

ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา “เปิดเวทีประชาพิจารณ์ผังน้ำ” ครั้งที่ 2 พื้นที่ลุ่มน้ำปิง ตามโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับที่ 1 โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

ธีระ วงศ์ใหญ่ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและบริหารจัดการน้ำ สทนช.เปิดเผยว่า ได้ทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อกำหนดตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ เช่น โครงข่ายระบบระบายน้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ สภาพและสาเหตุของอุทกภัยและภัยแล้ง ฯลฯ ผลวิเคราะห์และจัดทำร่างผังน้ำ (ฉบับร่าง 1) ลุ่มน้ำปิง แบ่งเป็น 2 รหัสโซน รวมพื้นที่ 1,298,743 ไร่ พื้นที่น้ำหลากริมลำน้ำ (ลน.) 7,866 ไร่ และพื้นที่น้ำหลากระบาย (ลร.) 1,290,877 ไร่

โดยมีข้อเสนอเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เบี่ยงเบนการไหลของน้ำ และทำอย่างไรให้ผังน้ำก่อเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อควบคุมสิ่งปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำ เช่น เขตชลประทานน้ำนอง เขตทางน้ำหลาก ควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม พื้นที่แก้มลิงควรเป็นที่โล่ง

ส่วนเขตชุมชนและอุตสาหกรรมตามผังเมืองรวมจังหวัด ควรมีระบบป้องกันน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงเมื่อเกิดน้ำท่วม ซึ่ง สทนช.จะนำข้อคิดเห็นไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงผังน้ำให้เหมาะสม และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในเดือนมกราคม 2566

ใช้ผังน้ำร่วมกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

นันทา เจริญผล ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสำรวจลุ่มน้ำปิง ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะต้นน้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ พบปัญหาสำคัญมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างของภาครัฐอยู่ในลำน้ำ อาทิ สะพาน เขื่อนป้องกันตลิ่งริมน้ำ ที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเกิดจากเมืองขยายตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

ส่วนเขตตัวเมืองสภาพลำน้ำเกิดการเปลี่ยนสภาพไปมาก มีการรุกล้ำลำน้ำ ทำให้ทางน้ำไหลแคบลง ส่วนพื้นที่เชิงเขามีการก่อสร้างรีสอร์ต การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างบ้านเรือนกีดขวางรุกเส้นทางการไหลของน้ำ การตื้นเขินของแม่น้ำปิงทำให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำปิงตอนบน

“ผังน้ำ” จะเป็นกรอบชี้ให้เห็นสภาพปัญหา รวมถึงเกณฑ์การทำกิจกรรมในพื้นที่นั้น ๆ เช่น โซนพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม เป็นพื้นที่ทางน้ำหลาก (floodway) มีความลึกเมื่อเกิดน้ำท่วมและระยะเวลาของการท่วมขังนาน ควรกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม โดยหลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หรือหากเป็นพื้นที่พัฒนาเดิม หรือจำเป็นต้องกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนา ควรมีการควบคุมความหนาแน่นของมวลอาคาร และพื้นที่โล่งว่างให้น้ำผ่านไหลได้

ขณะที่โซนน้ำหลากริมน้ำ ควรมีที่ว่างริม 2 ฝั่งและเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่น ควบคุมหรือจำกัดกิจการบางประเภท ทั้งอาคารขนาดใหญ่ จัดสรร พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ควรมีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งตามสภาพแม่น้ำลำคลอง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

เมื่อมีกฎหมายผังน้ำออกมาจะต้องพิจารณา 4 รหัสโซนที่ระบุไว้ ได้แก่ โซนทางน้ำหลากริมน้ำ, โซนพื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ, โซนพื้นที่น้ำนอง และโซนพื้นที่ลุ่มต่ำ กฎหมายผังน้ำเป็นเสมือนข้อแนะนำและชี้แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ใช่ข้อห้าม

หวั่นผังน้ำแค่เสือกระดาษ

วาริน เขื่อนแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลหนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างผังน้ำฉบับที่ 1 มีข้อมูลเก่าหลายส่วน ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริง เช่น พื้นที่ ต.หนองตองพัฒนา เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ แต่เป็นพื้นที่ชุมชนและทำการเกษตร มี 14 ตารางกิโลเมตร มีสวนลำไย 8-9 ตารางกิโลเมตร ล่าสุดเกิดน้ำท่วมบ้านเรือนและสวนลำไยทั้งหมด เพราะถูกคลองส่งน้ำของชลประทานกดทับคลองน้ำเก่าที่เป็นทางไหลของน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในปีนี้

ข้อมูลปัจจุบันควรถูกหยิบยกขึ้นมาจัดทำผังน้ำ เพื่อความเป็นมาตรฐานและแก้ปัญหาได้ตรงจุด จึงอยากเสนอให้ผังน้ำเป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริง ไม่เพียงการให้ข้อมูลหรือชี้แนะ และไม่ใช่เสือกระดาษ

เร่งผุดผังน้ำระดับตำบล

บุญธรรม บุญหมื่น นายกเทศมนตรีตำบลขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผังน้ำเป็นสิ่งที่ดี แต่ร่างกฎหมายอาจไม่ได้มีผลบังคับ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพิจารณาด้วยว่า โครงการใดหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินของบุคคลใดขัดแย้งกับผังน้ำบ้าง ก่อนจะออกใบอนุญาตก่อสร้าง อำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น จุดนี้จะเป็นช่องว่าง ต้องระวัง

การจัดทำผังน้ำควรทำผังระดับตำบล ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย เช่น ล่าสุดที่ อ.สารภี เกิดน้ำท่วมรุนแรงหลายตำบล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีการรุกลำน้ำปิง สร้างบ้านจัดสรรหนาแน่นเกิน ซึ่งในอดีตไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน

ดังนั้น ผังน้ำควรเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง ต้องวางโซนนิ่งชัดเจนและมีความเคร่งครัด จึงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งได้ตรงจุด

ชุมพร จาปัญญะ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การทำผังน้ำต้องแก้ทั้งระบบและลงลึกจากพื้นที่ระดับล่าง โดยเร่งทำผังน้ำระดับตำบล ซึ่งท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อเมืองน่าอยู่ในอนาคต