ธปท.ภาคเหนือ ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ดีขึ้นจากท่องเที่ยว-รายได้เกษตรกรเพิ่ม

ท่องเที่ยวภาคเหนือ
ท่องเที่ยวภาคเหนือ : https://thai.tourismthailand.org

แบงก์ชาติแจงเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/65 เร่งตัวต่อเนื่อง ท่องเที่ยว-เกษตร-ค้าปลีกขยายตัว คาด Q4 แนวโน้มเติบโตขึ้น ทิศทางบวก

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 3/2565 โดยพบว่าเศรษฐกิจภาคเหนือมีการเร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัว จากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้น มีสัดส่วนสูงถึง 90% หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง
พรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

โดยส่วนใหญ่เป็นชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ สะท้อนจากการเดินทางเข้ามาภาคเหนือทั้งทางบกและอากาศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราการเข้าพักสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว โดยอัตราการจองห้องพักในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของภาคเหนือ เป็นเครื่องชี้วัดสำคัญ พบว่ามีอัตราการจองห้องพักในไตรมาส 3 อยู่ที่ 75-80% และมีโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4

อีกเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญคือ รายได้ภาคเกษตร พบว่ามีการขยายตัว ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการส่งออก ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และราคาปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 จะยังคงขยายตัวตามแนวโน้มราคาที่สูงขึ้น โดยสะท้อนจากรายได้ภาคเกษตรในภาคเหนือตอนล่างเป็นส่วนใหญ่ ที่พึ่งพิงภาคการเกษตรเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่างมีเครื่องบ่งชี้ว่ามีการฟื้นตัวและเร่งตัวขึ้น จากการลงทุนภาคค้าปลีกและบริการของหลายกลุ่มทุนในจังหวัดนครสวรรค์ ทั้งการลงทุนศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล เป็นต้น

ด้านผลผลิตเกษตรขยายตัวแม้ชะลอลงบ้างจากผลผลิตสุกรที่ยังหดตัวจากปัญหาโรคระบาด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ตามการผลิตในหมวดอาหาร เช่น ข้าวโพดกระป๋อง ถั่วแระแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์โคนม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวและแป้ง จากความต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งหมวดเครื่องดื่มปรับดีขึ้นตามกิจกรรมในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดบริการขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดยานยนต์ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนก่อสร้างที่หดตัว และการลงทุนของการผลิตเพื่อส่งออกชะลอลงหลังจากเร่งตัวในช่วงก่อนหน้า การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง จากรายจ่ายประจำที่กลับมาหดตัว ขณะที่รายจ่ายลงทุนยังหดตัวตามการก่อสร้างให้กับท้องถิ่นและโครงการก่อสร้างระบบถนน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาอาหารสด ส่วนราคาพลังงานชะลอลง ตลาดแรงงานปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่สูงกว่าก่อนช่วงโควิด-19 ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

นางพรวิภากล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 4/2565 คาดว่าปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคบริการและการท่องเที่ยว ประกอบกับด้านแรงงานที่ทยอยฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ยังมีปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกคาดว่าทรงตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง


อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ยังต้องติดตามก็คือ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและต้นทุน รวมถึงอุปสงค์ของต่างประเทศที่อาจชะลอตัว