“จันทบุรี-ตราด” จับมือโตแพ็กคู่ ชงงบฯ 1.5 หมื่นล้าน “นครผลไม้-EEC+2”

วันนี้ถนนการลงทุนทุกสายต่างมุ่งหน้าสู่อีอีซี หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่รัฐบาลมีแผนลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี และไม่เพียง 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราเท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์ แต่จังหวัดใกล้เคียงก็คาดหวังว่าอานิสงส์ของนโยบายนี้จะส่งผลถึงตนเองเช่นกัน โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี และตราด ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และเป็นแหล่งผลิตผลไม้ชั้นเยี่ยมของอาเซียน

ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จะเดินทางมาประชุมที่จังหวัดจันทบุรี และตราด ในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ภาครัฐและเอกชนทั้งสองจังหวัดจึงไม่พลาดที่จะเสนอแผนการต่อ ครม.ในครั้งนี้ด้วย โดยชูการเติบโตแพ็กคู่ เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่รวดเร็ว และมีผลต่อภาพรวมต่อการพัฒนามากขึ้น

จันทบุรี-ตราดเมืองผลไม้

สำนักงานคลังจังหวัดจันทบุรี ระบุว่า ปี 2559 จันทบุรีมีประชากร 514,700 คน โครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นภาคเกษตรกรรมร้อยละ 60 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 5 และภาคบริการร้อยละ 35 GPP มีมูลค่าประมาณ 110,926 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP ประเทศไทย รายได้ประชากรต่อหัวประมาณปีละ 215,515 บาท ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ คือ ราคาสินค้าเกษตร (ทุเรียน ลำไย ยางพารา) จำนวนนักท่องเที่ยว การค้าชายแดนและเจียระไนพลอย และการใช้จ่ายภาครัฐ

ขณะที่จังหวัดตราด มีประชากร 270,745 คน โครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรมร้อยละ 47.9 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 5.8 และภาคบริการร้อยละ 46.3 GPP มีมูลค่าประมาณ 39,393 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP ประเทศไทย รายได้ประชากรต่อหัวประมาณปีละ 145,499 บาท ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ คือ ราคาสินค้าเกษตร ยางพารา ทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรด ราคาสินค้าประมง กุ้งขาวและปลาทะเล และจำนวนนักท่องเที่ยว ผ่านสนามบิน

ชงงบฯ 1.5 หมื่น ล้าน

ในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก 8 จังหวัด ครั้งล่าสุด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ต่างนำเสนอโครงการพัฒนาของแต่ละจังหวัด เพื่อให้ที่ประชุม ครม.สัญจรพิจารณา

โดยจังหวัดตราด เสนอของบประมาณทั้งหมด 10,147 ล้านบาท คือ 1.พัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่ต้องเร่งรัดพร้อมดำเนินการได้ในปี 2561-2562 และเป็นงบประมาณที่อยู่ในแผนพัฒนาภาคตะวันออกปี 2563-2565 จำนวน 5,558 ล้านบาท 2.การปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว คือโครงการเพิ่มศักยภาพพื้นที่หมู่เกาะช้างเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอย่างยั่งยืน งบประมาณ 3,822 ล้านบาท และ 3.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน คือ โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนเพื่อให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ 767 ล้านบาท

ขณะที่จันทบุรีเสนอของบประมาณทั้งสิ้น 5,137 ล้านบาท ดังนี้ 1.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จำนวน 3,076 ล้านบาท 2.การปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว จำนวน 541 ล้านบาท 3.พัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล จำนวน 414 ล้านบาท 4.เร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่มีความวิกฤตและจัดระบบการบริหารจัดการมลพิษให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จำนวน 297 ล้านบาท และ 5.การพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 808 ล้านบาท

ก้าวสู่ EEC Plus 2

“จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดจันทบุรี บอกว่า จันทบุรี ตราด มีโครงสร้างลักษณะภูมิศาสตร์ ทรัพยากรคล้ายกัน จึงเสนอโครงการควบคู่กับจังหวัดตราด คือ ยุทธศาสตร์เมืองมหานครผลไม้ของโลก และแผนพัฒนา EEC Plus 2 เป้าหมาย คือ พัฒนาให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการผลิต และการค้าผลไม้ในภูมิภาคอาเซียน และมหานครผลเมืองร้อนของโลก ซึ่งจันทบุรีจะเป็นต้นแบบของการพัฒนา “Smart Green City in Garden” สร้างเมือง มีสวนผลไม้ที่มีคุณภาพ การสร้างมาร์เก็ตเพลซ (market place) การค้าระบบอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

ปัจจุบันจันทบุรีเสนอให้มีการเร่งพัฒนาแหล่งน้ำคลองโตนดให้เร็วขึ้น จากแผนที่กำหนดไว้แล้วในปี 2561 เพื่อให้พื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมทั้งจังหวัด มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ การผลิตผลไม้มีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้น เช่น ลำไยเกรดเอเอ เคยผลิตได้ 20% จะผลิตเพิ่มขึ้น 60-70%

ขณะที่การเชื่อมโยงระบบการขนส่ง ต้องการให้จันทบุรี และตราด เป็น EEC Plus 2 เสนอให้มีรถไฟรางคู่ต่อจากระยองไปจันทบุรีและตราด ซึ่งจะทำให้มีการลงทุน ท่องเที่ยว การค้าชายแดนตามมา อนาคตถ้ามีรถไฟรางคู่ นักท่องเที่ยวจาก EEC ราว 30 ล้านคนสามารถมาเที่ยวจันทบุรี ตราดได้มากขึ้น จีดีพีของภาคตะวันออกจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มีการเร่งรัดการสร้างถนนสาย 317 จันทบุรี-สระแก้ว ที่จะเชื่อมไปยังอีสานใต้ภายในปี 2561 จะลดเวลาการเดินทางเหลือ 1 ใน 3 และลดค่าใช้จ่ายได้ 15-20%

ชูโมเดลสหกรณ์จัดการผลไม้

เมื่อจันทบุรีเป็นมหานครผลไม้ ตราดก็เน้นการบริหารจัดการผลไม้ด้วยระบบสหกรณ์ “วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์” ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ปี 2561 ได้นำร่องสหกรณ์ต้นแบบ 4 แห่ง ผลิตคุณภาพผลไม้สู่มาตรฐานสากล มีระบบตรวจสอบ จัดหาตลาดจำหน่ายให้สมาชิกทั้งในและต่างประเทศ และแก้ปัญหาล้งจีนที่มาครอบงำ โดยให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในรูปแบบของการบูรณาการหน่วยงาน เกษตรและสหกรณ์ เกษตร พาณิชย์ และอุตสาหกรรม โดยเริ่มทำมาแล้วในปี 2560 เพื่อให้เห็นผลในฤดูกาลผลไม้ปี 2561 นี้

สำหรับปัจจัยที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน มีทั้งเรื่องเงินทุนหมุนเวียน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ แพ็กเกจจิ้ง รวมทั้งการอำนวยความสะดวกการนำเข้าแรงงานภาคเกษตรกรรมจากประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าไปทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งเพื่อนำผลผลิตมาแปรรูป ซึ่งต้องปลดล็อกกฎระเบียบภาครัฐ และพัฒนาด่านชายแดนยกระดับเป็นด่านมาตรฐานสากล

โปรเจ็กต์ยักษ์เกาะช้าง

“ดร.ประธาน สุรกิจบวร” รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล คือ การพัฒนาเกาะช้าง ได้แก่ การปรับปรุงโรงคัดแยกขยะมูลฝอย การก่อสร้างถนนเชื่อมรอบเกาะช้าง อ่างเก็บน้ำคลองพร้าว การพัฒนาระบบประปา นวัตกรรมการแพทย์เพื่อการท่องเที่ยวทางทะเล (marine safety) จัดตั้งศูนย์ฝึกกำลังคนเพื่อเตรียมบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดระบบรวบรวม และระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เกาะช้าง รวมงบประมาณ 3,772 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสะพานเลียบเกาะช้าง ที่รอการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คาดว่าจะใช้งบฯ 2,500 ล้านบาท

“การสร้างสะพานเลียบเกาะช้างเป็นความหวังของชาวจังหวัดตราด และชาวเกาะช้าง ที่จะได้รับบริการความสะดวกสามารถเดินทางรอบเกาะได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดที่จะเพิ่มเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% นอกจากนี้ภาคเอกชนจะมีการนำเสนอการก่อสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะที่เกาะช้างอีกด้วย” ดร.ประธานกล่าว

ต้องจับตาดูสัญญาณจาก ครม.สัญจรครั้งนี้ ว่าสุดท้ายโครงการไหนจะมาวินบ้าง