ลานีญา ทำชาวสวนยางภาคใต้วิกฤต

ชาวสวนยาง

สวนยางใต้กระอักพิษ “ลานีญา” 2 ปี ฝนลากยาวไม่ได้กรีดยาง ไม่มีรายได้ชำระเงินกู้-ดอกเบี้ย ทำหนี้ครัวเรือนท่วม หันกู้เงินนอกระบบ นำสิ่งของในบ้านเข้าโรงจำนำ มายังชีพประจำวัน ผอ.โรงเรียนเผย น.ร.เริ่มขาดเรียน เหตุผู้ปกครองไม่มีเงินให้ ชาวสวนยางลุ้นกรีดยางผ่าฤดูกาลหน้าแล้ง

เจ้าของสวนยางพารา อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาคใต้ได้เกิดภาวะลานีญามา 2 ปีแล้ว น้ำฝนมากกว่าปกติประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ฝนตกในพื้นที่ต่อเนื่องแทบทุกวัน ทำให้ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้มาประมาณ 2 เดือนเต็ม

ส่งผลกระทบต่อรายได้ เนื่องจากชาวสวนส่วนใหญ่ทำธุรกิจปลูกสวนยางเป็นพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ทำให้สร้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งการกู้สหกรณ์ ร้านค้า และบางรายไม่สามารถชำระเงินต้น ได้จ่ายแต่ดอกเบี้ย จึงนำสิ่งของมีค่า และหัวทะเบียนรถ ฯลฯ ไปจำนำมายังชีพประจำวัน

ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ตอนนี้โรงเรียนหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ประสบปัญหานักเรียนส่วนหนึ่งขาดเรียน เพราะผู้ปกครองไม่มีเงินให้บุตรเดินทางไปโรงเรียน เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางเพียงอย่างเดียว

เมื่อเกิดฝนตกลากยาวหลายเดือนทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้สูญเสียรายได้ไปจำนวนมาก บางรายก็อพยพไปทำงานต่างจังหวัด

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) และกรรมการสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเครือข่ายมีโรงรมยางรมควันประมาณ 250 โรง

ทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยาง กลุ่มสหกรณ์ยาง กลุ่มเกษตรกรยาง ชาวสวนยางประมาณ 50,000 ครัวเรือน โดยเฉลี่ยจะมีรายได้ประมาณ 300 บาท/ครัวเรือน สำหรับคนกรีดยางที่แบ่งกับเจ้าของสวนยางแล้ว

โดยปกติ 1 ปีมีระยะเวลากรีดยางได้ 220 วัน แต่ในปี 2565 ฝนตกลากยาวมาตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน โดยเมื่อเดือนตุลาคมกรีดได้เพียง 9 วัน และในปีนี้ในกลุ่มเครือข่ายกรีดยางเฉลี่ยแล้วได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เงินที่หายไปจากระบบเป็นจำนวนมากจากกลุ่มยางแห้งและน้ำยางเป็นจำนวนมหาศาล

นายเรืองยศกล่าวอีกว่า ชาวสวนยางมีอาชีพเดียวถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่ทำปศุสัตว์ เกษตร ประมงก็จะทำแบบบริโภคเองตามธรรมชาติ ส่วนที่เหลือมีอาชีพผสมผสาน ส่วนชาวสวนยางที่มีผลไม้อื่น ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในปี 2565 จากฝนที่ลากยาวดอกร่วงไม่ให้ผลผลิตหรือมีปริมาณน้อยมาก

จึงไม่มีรายได้และต้นทุนสินค้าทุกชนิดขึ้นราคา เช่น ค่าบำรุงรักษา ปุ๋ย ยารักษาโรค ฯลฯ ทำให้ชาวสวนยางจะออกจากถิ่นที่อยู่ไปประกอบอาชีพอย่างอื่นในต่างจังหวัด

นายเรืองยศกล่าวว่า ส่งผลให้ชาวสวนยางไม่มีรายได้ไปผ่อนชำระเงินกู้ ทั้งเงินผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ฯลฯ จึงหันไปเอาเงินกู้นอกระบบ นำสิ่งของไปเข้าโรงรับจำนำ โดยหนี้เก่าที่มีอยู่แล้วสร้างหนี้สินใหม่เพิ่มเติม จนเป็นหนี้สะสมส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ ชาวสวนยางตั้งเป้าหมายปี 2566 จะต้องมีการกรีดยางผ่าฤดูหน้าแล้ง ซึ่งคุณภาพปริมาณน้ำยางจะน้อย ปัญหาเรื่องยาง เมื่อฝนตกมากลากยาวก็มีผลกระทบไม่สามารถกรีดได้ และเมื่อถูกภัยแล้ง หรือฤดูกาลหน้าแล้ง น้ำยางก็มีปริมาณน้อย

“ตอนนี้ชาวสวนยางถูกเกียร์ว่างปัญหาต่าง ๆ และประสบปัญหาประกอบอาชีพจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว ผู้นำองค์กรชาวสวนยางต้องหารือประชุมกันด่วน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา”