หอการค้า 5 ภาคระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจไทยปี’66

หอการค้า

ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2565 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี หอการค้า 5 ภาคได้ร่วมกันเสวนา “Enhancing Regional Economy : ปลุกภูมิภาค-ฟื้นเศรษฐกิจไทย” ถึงการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้ทัดเทียมประเทศคู่แข่ง

ภาคเหนือร่วมขับเคลื่อน 4 มิติ

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ระหว่างปี 2566-2570 ทั้งหมด 4 มิติ ได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐาน BCG ของภาคเหนือ (Northern BCG Economy)

2.การส่งเสริมการค้าการลงทุนในภาคเหนือ ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมดิจิทัล 3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness) ผสมผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่น และ 4.การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงโครงข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยมีโครงการเร่งด่วน (Flagship Projects) 1) โครงการด้าน NEC ได้แก่ 1.1 โครงการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC) ในจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการ Special Economic Zones ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านสู่ภูมิภาค 10 จังหวัดในภาคเหนือ โดยมี จ.เชียงราย และตาก นำไปสู่การลงทุนในพื้นที่มากกว่า 1 แสนล้านบาท

1.2 โครงการ NEC Valley ส่งเสริมการแพทย์สมัยใหม่ เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มนักท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมหัตถอุตสาหกรรม

1.3 โครงการ SEZ เชียงราย ใน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ ซึ่งจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยพื้นที่ SEZ ตั้งอยู่ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี นราธิวาส ตราด หนองคาย นครพนม สงขลา สระแก้ว และมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย

2) แผนแม่บท การจัดการน้ำภาคเหนือ ให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชและอุปโภคบริโภค รวมถึงแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะสามารถสร้าง GPP ภาคเกษตรเพิ่มมากกว่า 10% 3) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Happy Model ได้แก่ กินดี-ท่องเที่ยว Food Gastronomy อยู่ดี-ท่องเที่ยว Health & Wellness ออกกำลังกายดี-ท่องเที่ยว Sport (Marathon+Trail Running)

และแบ่งปันสิ่งดีดี-ท่องเที่ยวต่อยอดภูมิปัญญา โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) สร้างมูลค่ารายได้การท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 25% เป็นการบูรณาการระหว่าง Cultural Tourism/Wellness Tourism/Community-based Tourism

4) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ (นครสวรรค์)-เด่นชัย และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 80,000 ล้านบาท

ภาคอีสานรุกพัฒนา 3G

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมุ่งไปที่การปลุกเศรษฐกิจภาคอีสาน 2023 เพื่อเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ภายใต้แนวทางการพัฒนา 3G : Green-Growth-Gate แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1) การค้า การลงทุน และค้าชายแดน เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์รถไฟไทย-ลาว-จีน สู่ยุโรป มาเลเซีย สิงคโปร์, หนุน NeEC และปั้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 4 จังหวัด เป็นฐานการผลิตบุกกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้, ยกระดับด่านการค้า และเร่งรัดสร้างสะพานข้ามโขงแห่งใหม่ หนุน Transport & Logistics ไทย-ลาว-จีน

2) ด้านเกษตรและอาหาร บริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล จาก 120 วัน ให้เป็น 365 วัน แก้น้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก, ยกระดับการผลิตข้าวหอมมะลิ สู่ BCG และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์, สร้างจุดขายภาคเกษตร ดันอีสาน เป็น Hub เมืองอาหารและสมุนไพร, ขยายผลเลี้ยง “โค+ควาย” ล้านตัว จากอีสานใต้สู่อีสานเหนือ

3) ด้านท่องเที่ยวและบริการ ชู Happy Model สร้าง Wellness Tourism กระจายรายได้สู่ชุมชน, ยกระดับเส้นทางโรแมนติก รูต และนาคา-นาคี รูต ในรูปแบบ BCG Tourism, พัฒนาท่องเที่ยวชุมชนสู่มาตรฐานสากล, หนุนจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก “อุดรธานี” กระตุ้นเศรษฐกิจ การเกษตร และท่องเที่ยว

“สำหรับประเด็นไฮไลต์ที่หอการค้าภาคอีสานให้ความสำคัญ คือทำทันที หรือเริ่มดำเนินการตามแผน เพื่อนำไปสู่การเติบโต 4% ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤตที่มีโอกาสจากนี้ไปจนถึงปี 2023 เราประชุมกันทุกเดือนว่าจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เชื่อมโยงธุรกิจการค้าการลงทุน ไทย-ลาว-จีน-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ทั้งเรื่องอุตสาหกรรม อาหาร สุขภาพ และจะพยายามทำทุกอย่างให้คนพลัดถิ่นกลับมาบ้าน มีงานทำ เชื่อว่าหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศก็พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนขับเคลื่อนประเทศให้มั่นคง ยั่งยืน และมั่งคั่งในอนาคต”

ภาคใต้ต่อยอด 4 โปรเจ็กต์เก่า

นายวัฒนา ธนาศักดิ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า มีเรื่องหลักนำเสนอ 4 ประเด็น ซึ่งเป็นโครงการเดิม แต่ยังไม่ได้รับการผลักดัน ได้แก่

1.การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) 4 เรื่อง คือ 1.1 ประตูการค้าฝั่งตะวันตก โดยเพิ่มศักยภาพท่าเรือระนองเชื่อมสู่เอเชียใต้ ก่อสร้างรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-ชุมพร และเชื่อมต่อไประนอง ขยายถนนสายหลัก ระนอง-พังงา 1.2 ประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางทะเล-ธรรมชาติ

1.3 อุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง โดยจัดตั้งศูนย์ด้านยางพารา/ปาล์มน้ำมัน/สัตว์ทะเล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 1.4 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ผลักดันป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก

ซึ่งทั้ง 4 เรื่องจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน/ปี ภาคอุตสาหกรรมมีการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท โครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั่วถึง ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์เชื่อมโยง EEC และเอเชียใต้

2.เรื่องแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน AWC พ.ศ. 2565-2574 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์เยียวยา ฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

ซึ่งมีการนำร่อง 3 อำเภอใน จ.ภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ และ อ.ถลาง แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เชื่อมงานบริการให้อยู่ในหน้าต่างเดียวกัน ระยะที่ 2 พัฒนา Super License ในกิจการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ

3.Phuket Expo 2028 ขณะนี้อยู่ในช่วงการเจรจา ตอนนี้มี 4 ประเทศคู่แข่ง ถ้าหากได้จัดที่ภูเก็ต ประโยชน์ที่จะได้รับด้านการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้เพิ่มช่วงโลซีซั่น และกระตุ้นเศรษฐกิจ

4.โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge) ซึ่งจะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้า

5.AWC บูสต์ท่องเที่ยวไทย นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล โดยนำเสนอ 4 แนวทาง คือ ส่งเสริมสุขภาพ รักษาพยาบาล บริการวิชาการ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยตั้งเป้าเวลเนสทัวริซึ่ม ปี 2573 มูลค่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตาราง ผลักดันศก.

ภาคกลางนำเสนอ 3 โปรเจ็กต์

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผยว่า สำหรับภาคกลางได้ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนภูมิภาค กับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) การนำเสนอโปรเจ็กต์ทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่

1.การจัดตั้งนิคมวิจัยและพัฒนา เรียกว่า “Food Valley” ใน จ.ปทุมธานี เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูป โดยปทุมธานีมีความเหมาะสม มีทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยหลายแห่ง ถ้าหากโครงการนี้สำเร็จจะช่วยเพิ่มมูลค่าเกษตรและอาหาร

2.การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศ ปัจจุบันภาคกลางมีขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และมีภาคเอกชนสร้างศูนย์กระจายสินค้า แต่ยังไม่ได้เชื่อมโยงหรือมีแผนการจัดการโลจิสติกส์ของทั้งประเทศ

3.การปรับปรุงผังเมือง กลุ่มปริมณฑล 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปัจจุบันการวางผังเมืองและสาธารณูปโภคยังไม่สอดคล้องกับกรุงเทพฯ ทำให้เกิดปัญหาการจราจร การระบายน้ำ และสิ่งแวดล้อม จึงควรปรับผังเมืองให้รองรับกับพื้นที่อยู่อาศัย

4.เรื่องท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ มี 3 เส้นทาง คือ ทวารวดี ละโว้ อยุธยา เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง นำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับ Happy Model และใช้หลักการคิดของ BCG

โดยทาง อว. จะช่วยเรื่องของการทำคอนเทนต์ สตอรี่ ด้าน ททท.จะช่วยเรื่องการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ ในส่วนหอการค้ามี นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เป็นกลุ่มบริหารจัดการการท่องเที่ยว

5.เกษตรและอาหาร โครงการเยาวชนคนเกษตร โดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการทางเกษตรที่มีศักยภาพ สร้างรายได้ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ลดการเคลื่อนย้ายประชากร คาดว่าเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น 5% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคกลาง 2025

ตะวันออกชู 3 โปรเจ็กต์ดัน EEC

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคตะวันออกปี 2568 จะเน้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และสินค้าอาหารปลอดภัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นประตูสู่เศรษฐกิจโลก และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวมาตรฐานสากล โดยคนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า ทางหอการค้าภาคตะวันออกได้วางแผนพัฒนาระหว่างปี 2566-2570 โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก 2.สินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยที่มีมูลค่าสูง และ 3.มุ่งเป้าในการกำจัดคาร์บอน และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

โดยโครงการเร่งด่วน (Flagship Projects) ได้แก่ 1.เรื่องเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนโดยเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมงาน EEC Fair ในปี 2024 ให้เป็นงานใหญ่เทียบเท่ากับงาน BOI Fair ในอดีต

เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมของ EEC ในการรองรับอุตสาหกรรม S-curve ต่อนักธุรกิจต่างชาติ รวมถึงการเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับคนไทยทั้งประเทศว่า โครงการ EEC ผลประโยชน์ไม่ได้ตกกับคนภาคตะวันออกเท่านั้น แต่เป็นโครงการของคนไทยทั้งประเทศ

“EEC เราต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา โดยมุ่งไปสู่เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมายสาขาใหม่ แต่ต้องทำการประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ทุกคนทราบ ผ่านการจัดงาน EEC Fair ทั้งนโยบายของรัฐ ต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ภาคเอกชนไทยจะปรับตัวอย่างไรเพื่อเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต ความต้องการแรงงานระดับแบบไหน การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนให้รองรับเทคโนโลยีใหม่”

2.โครงการศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ ต้องการให้รัฐบาลไปเจรจากับทางการจีน จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบผลไม้ก่อนส่งออก เพราะปัจจุบันการตรวจหน้าด่านปลายทาง หากพบปัญหาทำให้เกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ ต้องการผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) จะมีการจัดพัฒนาระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) โดย ปตท.จะนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

3.การเทรดคาร์บอนเครดิต จะต้องมีมาตรการมาช่วยเหลือภาคเกษตร โดยเริ่มจากสวนยางพาราในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเริ่มดำเนินการ ซึ่งทางหอการค้าจะกระตุ้นไปยังรัฐบาลให้เข้าไปช่วยส่งเสริม กยท.ดำเนินการ ทั้งนี้ ในการประชุมเอเปคประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่พูดกันมาก

หากไทยไม่รีบทำจะถูกประเด็นเรื่องกีดกันทางการค้า