กลุ่มทุนโรงพยาบาล สยายปีกต่างจังหวัด “ธนบุรี-เกษมราษฎร์”เจาะเมืองรอง-รายเดิมลงทุนเพิ่ม

ธุรกิจโรงพยาบาลโตต่อเนื่อง แห่ลงทุนบุกต่างจังหวัด กลุ่มธนบุรี ซุ่มเงียบดาหน้าบุกเมืองรอง “กาฬสินธุ์-ทุ่งสง” ด้าน “เกษมราษฎร์” เจาะตลาดใหม่ไม่หยุด สยายปีกปักธง “อรัญประเทศ-กบินทร์บุรี” ด้านรายเดิมทยอยลงทุนขยายกิจการต่อเนื่อง “ตรังรวมแพทย์” ทุ่มกว่า 400 ล้าน สร้างอาคารสุดทันสมัย เนรมิตห้องเดี่ยวทั้งหมด “ราชพฤกษ์” ขอนแก่น ลงทุน 1 พันล้าน ผุดตึกใหม่ 200 เตียง คาดเสร็จเมษาฯ 61 ตั้งเป้าโต 10%

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลจะมีการแข่งขันที่สูงมาก แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทั้งที่เป็นหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองตามการขยายตัวของเมือง จำนวนประชากรที่มากขึ้น และเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น โดยนอกจากภาพของการขยายเครือข่ายออกไปในต่างจังหวัดของกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่จากส่วนกลาง ที่ใช้วิธีการเข้าซื้อกิจการของโรงพยาบาลขนาดเล็กของกลุ่มทุนท้องถิ่นแล้ว ก็ยังมีกลุ่มทุนอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้วิธีการเข้าไปจับมือกับกลุ่มทุนในจังหวัดนั้น ๆ ลงทุนสร้างโรงพยาบาลใหม่ขึ้น

“ปัจจุบัน นอกจากหัวเมืองหลักแล้ว เมืองรองที่มีจำนวนประชากรสูงและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน ส่วนตลาดในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เปิดให้บริการเป็นจำนวนมากและมีการแข่งขันสูง แต่บางย่าน บางทำเล ก็ยังมีศักยภาพ”

รพ.ดาหน้าบุกเมืองรอง

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีโครงการโรงพยาบาลเอกชนหลายรายที่ผ่านมาความเห็นชอบในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ไปแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ กบินทร์บุรี ที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ของบริษัท โสธรเวชกิจ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์, โรงพยาบาลกาฬสินธุ์-ธนบุรี ที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์, โรงพยาบาลธนบุรี ทุ่งสง ของบริษัท ธนราษฎร์ทุ่งสง จำกัด ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, โรงพยาบาลพัทยาเมมโมเรียล ภูเก็ต ที่ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ของบริษัท การแพทย์ตะวันออก จำกัด เจ้าของโรงพยาบาลพัทยาเมมโมเรียล ที่พัทยา, โรงพยาบาลนครแม่สอดอินเตอร์เนชั่นแนล (ส่วนขยาย) ที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์-ธนบุรี เป็นการร่วมลงทุนของบริษัท โรงพยาบาลร้อยเอ็ด-ธนบุรี กับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ขณะที่โรงพยาบาลธนบุรี ทุ่งสง เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี- จำกัด (มหาชน) บริษัท ตรังเวชกิจ จำกัด บริษัท โรงพยาบาลชุมเวช จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงพยาบาลสิโรรส จำกัด และนายคิมคริสเตียน ว๊าซไฟท์ ส่วนโรงพยาบาลพัทยาเมมโมเรียล ภูเก็ต ก็เป็นรุกคืบครั้งสำคัญที่ขยายการลงทุนจากพัทยาไปยังภูเก็ต

ขณะที่ นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์และเวิลด์เมดิคอล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มเกษมราษฎร์ยังมองหาโอกาสเติบโตจากการหาตลาดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในต่างจังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน แนวทางหลัก ๆ ตอนนี้ก็คือการมุ่งยกโรงพยาบาล 6-7 แห่ง พร้อมตั้งเป็นศูนย์ส่งต่อให้ครอบคลุม 10 จังหวัด รวมทั้งลงทุนสร้างโรงพยาบาลใหม่ อาทิ เกษมราษฎร์ อรัญประเทศ รพ.ขนาด 130 เตียง เพื่อจับกลุ่มชาวไทยและกัมพูชาที่ข้ามชายแดนเข้ามารักษางบฯ 500 ล้านบาท, เกษมราษฎร์ กบินทร์บุรี (ปราจีนบุรี) รพ.ขนาดกว่า 100 เตียง รองรับผู้ประกันตนเพราะมีทำเลใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม 304 และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ

รายเดิมขยายการลงทุนเพิ่ม

นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรังรวมแพทย์ จังหวัดตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปีที่ผ่านมา แม้จะชะลอตัวบ้าง จากปัจจัยในเรื่องของเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งหันไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐแทน แต่เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ตรังรวมแพทย์ได้ลงทุน 400 ล้านบาท สร้างตึกโรงพยาบาลใหม่ ขนาด 150 เตียง จากเดิมที่มีเพียง 50 เตียง พร้อมกับพัฒนาห้องพักผู้ป่วยทั้งหมดเป็นห้องเดี่ยว ไม่มีห้องรวม และมีการปรับปรุงอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ทั้งหมด อาทิ อุปกรณ์ส่องกล้องรุ่นล่าสุดที่ให้ภาพคมชัดระดับ HD พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมโยงทุกจุดภายในโรงพยาบาล ส่วนนี้ก็ใช้งบประมาณไปกว่า 10 ล้านบาทเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบอัลตราซาวนด์ ปรับปรุงห้องผ่าตัด การยกระดับห้องไอซียู พัฒนาหน่วยไตเทียม มีการเซ็นสัญญาทำ MOU กับโรงพยาบาลในส่วนกลาง คือโรงพยาบาลธนบุรี และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ล่าสุดอยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารด้านหน้าให้มีความสอดคล้องกับอาคารที่สร้างใหม่ด้านหลัง จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ภายในกลางปีนี้

“นอกจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยในประเทศแล้วยังเปิดแผนกผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศ โดยมีการคอนแทร็กต์กับบริษัทประกัน”

นายแพทย์ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH จังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ขอนแก่นมีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เปิดให้บริการ 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชพฤกษ์ โรงพยาบาลขอนแก่นราม และโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ผ่านมา

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ได้มีการลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 1 พันล้านบาท โดยย้ายจากที่เดิมไปที่ใหม่ มีขนาดใหญ่ขึ้นตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพไม่ไกลจากที่เดิมเพื่อขยายการให้บริการให้เป็น รพ.ขนาด 200 เตียง จากเดิมที่มีเพียง 50 เตียง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายนนี้ โดยช่วงแรกจะเปิดให้บริการประมาณ 100 เตียงก่อน

“ที่ผ่านมา แม้รายได้จะเติบโตทุกปี แต่ก็เป็นอัตราที่ไม่มากนัก และปีที่ผ่านมาก็มีผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ทุกโรงพยาบาลมีอัตราการเติบโตน้อยเช่นกัน ฉะนั้นการย้ายไปโรงพยาบาลใหม่ คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยจุดเด่นของเราที่แตกต่างจากโรงพยาบาลอื่น นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพ คือ ราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ผู้ที่ไม่สะดวกไปโรงพยาบาลที่อยู่ในภาครัฐ สามารถเข้ามาใช้บริการได้”

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์สมเจตน์ จิตตการ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนครแม่สอด อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเตรียมความพร้อมในการรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ทุ่มงบฯ 300 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และก่อสร้างส่วนต่อขยาย เป็นอาคาร 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 เป็นแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) และศูนย์ตรวจสุขภาพ ชั้น 2 เป็นห้องผ่าตัด 3 ห้อง และแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) 6 เตียง สำหรับชั้น 3-5 เป็นห้องพิเศษสำหรับผู้ป่วยใน ชั้นละ 20 ห้อง รวม 60 ห้อง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561

ลงทุนเพิ่ม – โรงพยาบาลตรังรวมแพทย์ จังหวัดตรัง ทุ่มงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท สร้างตึกโรงพยาบาลใหม่ขนาด 150 เตียง และปรับปรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ระบบอัลตราซาวนด์ ห้องผ่าตัด เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการที่มากขึ้นทั้งชาวไทย และต่างประเทศ

รพ.ใกล้เคียงบุกกระบี่

นางสาวสุนทรี วิประกษิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่นครินทร์อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลกระบี่นครินทร์ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดกระบี่ มีมาตรฐานถือว่าเป็นหน้าตาของจังหวัด เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศ

“การให้บริการของโรงพยาบาลกระบี่นครินทร์อินเตอร์เนชั่นแนลอยู่ในระดับมาตรฐาน JCI ถือเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่ได้ทำประกันไว้กับบริษัทประกันชั้นนำระดับโลก ซึ่งเราสามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมาตรฐานสากล และสามารถรองรับคนท้องถิ่นได้อย่างดี

จากเดิมที่ต้องเดินทางไปใช้บริการจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี หรือจังหวัดตรัง เพราะปริมาณคนใช้บริการเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลรัฐ”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่นครินทร์อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวอีกว่า ในอนาคตโรงพยาบาลกระบี่นครินทร์อินเตอร์เนชั่นแนลมีแผนที่จะขยายกิจการให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ และเห็นได้จากการที่มีโรงพยาบาลเอกชนจากจังหวัดใกล้เคียงอีกหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ใช้บริการมีตัวเลือก และเชื่อว่าต่อไปจะมีนักลงทุนด้านโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศจะเข้ามาลงทุนในจังหวัดกระบี่เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน