ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ชู 5 ธุรกิจเด่น เจาะรายได้ภาคเหนือ

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

เวทีงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ประจำปี 2565 “Moving beyond the curve : ก้าวข้ามความท้าทาย สู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ฉายภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือออกมาชัดเจนคือ รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ และหนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูง ขณะที่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจน้อยและกระจุกตัว

บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด เศรษฐกิจภาคเหนือระยะถัดไปจะเป็นอย่างไร “ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” กับแนวทางยกระดับเศรษฐกิจด้วย 5 โอกาสดาวเด่นภาคเหนือ

รายได้ครัวเรือนต่ำ/หนี้พุ่ง

รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนภาคเหนือจากปี 2554 อยู่ที่ 1.73 หมื่นบาท/ครัวเรือน และปี 2564 อยู่ที่ 2.09 หมื่นบาท/ครัวเรือน เป็นช่วงระยะ 10 ปีที่รายได้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ขณะที่ในปี 2554 หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนภาคเหนืออยู่ที่ 1.21 แสนบาท/ปี และปี 2564 หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 2.06 แสนบาท/ปี เป็นช่วงระยะ 10 ปีที่หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงอย่างมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่าเศรษฐกิจภาคเหนือมีมูลค่าเพิ่มน้อยและกระจุกตัว ซึ่งในภาคเกษตรและการผลิต พบว่าสัดส่วน 45% ของแรงงาน ทำการเกษตรเป็นแหล่งปลูกพืชไร่และผลไม้หลายชนิด และอีก 55% เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (OEM)

ขณะที่ภาคบริการและท่องเที่ยว เกือบ 1 ใน 3 ของรายได้มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน โดย 50% ของนักท่องเที่ยวกระจุกตัวใน 3 จังหวัดหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก การที่เศรษฐกิจของภาคเหนืออิงภาคเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ด้วยสภาพของภูมิประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวตนของภาคเหนือที่มีจุดขายใน 2 ด้านนี้ แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

หนุนสินเชื่อฟื้นฟู 2.1 หมื่นล้าน

ภาคเหนือนอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้นแล้ว ในส่วนของหนี้ภาคธุรกิจเป็นประเด็นที่น่าห่วงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งจากเวทีสัมมนาวิชาการที่ผ่านมา นักธุรกิจมีมุมสะท้อนในเรื่องความต้องการสภาพคล่องใหม่ เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรม ที่ต้องการนำสินเชื่อไปปรับปรุงกิจการ แต่แบงก์อาจให้ได้ไม่เต็มที่ ด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้น จึงต้องพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย ที่อยากให้สนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง

นอกจากนี้ ยังพบว่านักธุรกิจต้องการข้อมูลที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้เร่งให้เกิดการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยสินเชื่อฟื้นฟูในปี 2564 วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท เป็นสัดส่วนของภาคเหนือ 21,472.7 ล้านบาท จำนวน 8,260 ราย เฉลี่ยรายละ 2.6 ล้านบาท

ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ล่าสุดเหลือ 5 หมื่นล้านบาท โดยมีธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการนี้รวมทั้งประเทศ 389 ราย เป็นสัดส่วนของภาคเหนือ 47 ราย หรือราว 12% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ โรงแรม และอุตสาหกรรม

5 ดาวเด่นยกระดับ เศรษฐกิจเหนือ

ภาพของภาคเหนือ 5 ด้านที่เป็นโอกาสและจะยกระดับสู่ “เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน” ได้แก่ 1.เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งภาคการเกษตรมีความท้าทายมากขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น

การปรับโครงสร้างไปสู่เกษตรอัจฉริยะ จะเป็นตัวช่วยยกระดับเกษตรภาคเหนือ อาทิ การใช้ internet of things (IOT) sensor เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อเก็บข้อมูล นำไปวิเคราะห์ เช่น การใช้เครื่องวัดธาตุอาหารในดิน โดรนพ่นปุ๋ย และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร

2.อาหารแห่งอนาคต (future food) เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งพบว่าผู้บริโภคทั่วโลก 79% วางแผนจะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และ 70% ต้องการเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย “อาหารฟังก์ชั่น และผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช” (functional & plant-based food)

จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ทั้งนี้ functional food เติบโตเฉลี่ยปีละ 7% ส่วน plant-based food เติบโตเฉลี่ยปีละ 19% เป็นโอกาสของภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบและมีแรงงานรองรับ

3.การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน ซึ่งทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น ภาคเหนือจึงต้องเริ่มปรับตัวสู่มาตรฐานความยั่งยืน เช่น จัดการห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำถึงปลายน้ำ รับซื้อวัตถุดิบที่มีการจัดการที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) บนพื้นฐานดิจิทัล ลดการปล่อยของเสีย เพิ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) ประเทศไทยมีโอกาสสูง อยู่อันดับที่ 9 จาก 46 ประเทศ มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 12.5 ล้านคน สร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท โดยภาคเหนือมีศักยภาพในการก้าวสู่ wellness tourism ด้วยปัจจัยทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลากหลาย บุคลากรพร้อมทั้งด้านบริการและการแพทย์ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

5.การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (creative tourism) กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นเทรนด์ของโลก มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วโลกเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 11% ต่อปี

โดยปี 2565 มีมูลค่าตลาด 5,862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2572 คาดว่ามูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 12,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาคเหนือมีอัตลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งและจุดขาย มีภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี มีธุรกิจสร้างสรรค์ อาทิ ย่านถนนช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ล้านนา เป็น creative tourism ที่ชัดเจน

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจภาคเหนือกับ 5 โอกาสที่เป็นดาวเด่น จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ และผลักดันให้รายได้ครัวเรือนภาคเหนือเติบโตเร็วขึ้นได้อย่างแน่นอนในอนาคต