วงสัมมนา ภูเก็ต ขอปกครองตนเอง เลือกผู้ว่าฯ เก็บภาษีเข้าท้องถิ่นโดยตรง

“ภูเก็ต” จี้รัฐปลดล็อกกฎหมาย ขอปกครองตนเองรูปแบบพิเศษ พร้อมเสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นำร่องภาคละ 1 จังหวัด

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนา “ทิศทางพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ณ ห้องประชุมโรงแรมดารา อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายสมชาย ฝั่งชลจิตร โฆษกคณะกรรมาธิการฯ นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล โดยมี ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป

นายสมชายกล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ประเด็นสำคัญ เพื่อระดมความคิดเห็นว่าภูเก็ตพร้อมที่จะดูแลและปกครองตนเองในรูปแบบการบริหารราชการพิเศษหรือรูปแบบใดที่เป็นความต้องการของชาวภูเก็ตจริง ๆ เพราะสิ่งที่เรียกร้องมาตลอด คือ ภูเก็ต ทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก แต่ว่าการบริหารจัดการภูเก็ตต้องขึ้นกับส่วนกลางตลอดเวลา ผู้บริหารท้องถิ่น อบจ.อบต. ต่างรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ทั้งที่มีความพร้อมมีงบประมาณที่จะทำ จึงอยากปกครองตนเองในรูปแบบกรุงเทพมหานคร

แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ตามที่ฝันได้ หลายเรื่องอยากทำให้ได้ เพราะภูเก็ตเป็นเมืองพิเศษที่อยากให้เป็นโมเดลระดับโลก แต่ว่าคนภูเก็ตทำเองไม่ได้ ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงมาร่วมรับฟังความรู้สึกและอยากจะสร้างความฝันร่วมกับชาวภูเก็ต คือ การปลดล็อกท้องถิ่น จะสามารถปลดล็อกได้จริง ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 และอีกแนวทางหนึ่ง คือ การแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารราชการท้องถิ่น หรือแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งต้องเพิ่มบทบาท เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้

เช่น อบต.เชิงทะเล อยากทำศูนย์ฟอกไต แต่ไม่มีอำนาจทำ และอยากมีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมที่จะทำได้ แต่อำนาจไม่มีทั้งที่เงินสะสมพร้อมทำได้ นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลประชาชน จึงต้องการให้เปลี่ยนแปลงถ้าเปลี่ยนแปลงใหญ่ไม่ได้ขอให้เปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ากว่านี้

ทางคณะกรรมาธิการฯ ต้องการสร้างแรงกระตุ้นให้ท้องถิ่นที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอยากดูแลตนเองให้มากกว่านี้ ที่สำคัญสุด คือ จะนำข้อมูลที่ อบต. อบจ. เทศบาล ของภูเก็ตสะท้อนออกมาไปตรวจสอบในทางกฎหมาย ว่าตรงจุดใดเป็นอุปสรรคเล็กไปจนถึงอุปสรรคใหญ่ ตรงจุดไหนพอแก้ปัญหาได้ก่อน ถ้าความคิดเห็นตกผลึกจะเสนอแก้กฎหมายตามขั้นตอน รวมถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขปัญหาโครงสร้าง พ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้ในระดับหนึ่งก่อน

“คนภูเก็ตมีกระแสมานานแล้วแต่กระทรวงหรือรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สนใจโดยเฉพาะประเด็นที่นายก อบจ.ภูเก็ตบอกว่ารายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีสาขาอยู่ในภูเก็ต ควรเป็นรายได้ท้องถิ่น แต่เวลาสาขาของบริษัทเหล่านี้ยื่นภาษีจะไปยื่นรวมกับสำนักงานใหญ่ ที่ กทม. ถือเป็นการนำเงินจากคนทุกจังหวัดส่งเป็นรายได้กรุงเทพฯ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลส่วนกลางเอาเปรียบคนท้องถิ่นมาก ประเด็นนี้จะไปยื่นขอแก้กับหน่วยงานใดให้เป็นรายได้ของจังหวัดที่ตั้งสาขานั่น ๆ” นายสมชายกล่าว

ด้าน นายเรวัตกล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่กว่า 500 ตารางกิโลเมตร 3 อำเภอ 17 ตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 19 แห่ง ทางคณะกรรมาธิการฯต้องการให้เสนอความเห็นการปกครองรูปแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร ส่วนตัวคิดว่าการจัดรูปแบบนี้มีการคิดมานานแล้วแต่ไม่สำเร็จและเปลี่ยนยากในความเป็นจริง

การกระจายอำนาจควรให้โอกาสจังหวัดภูเก็ตมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง เหมือนกรุงเทพมหานครและเสนอว่าควรให้นำร่องภาคละจังหวัด เช่น ภูเก็ต นำร่องภาคใต้ เชียงใหม่นำร่องภาคเหนือ นครราชสีมา นำร่องภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น และเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในภูเก็ตควร เสียภาษีในภูเก็ตไม่ใช่เสียภาษีที่กรุงเทพฯ

จังหวัดภูเก็ตถ้าไม่เกิดโควิด-19 จะอยู่กันอย่างสบายท้องถิ่นเก็บภาษีได้เต็มที่ แต่พอเกิดโควิด-19 ปี 2563-2565 จะเห็นได้ว่าคนภูเก็ตลำบากอย่างเฉียบพลัน สิ่งที่ใกล้ชิดกับประชาชนคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล อบจ. เข้ามาช่วยเหลือทันท่วงทีแต่การช่วยเหลือมีการตีกรอบระเบียบกฎหมายสูงมาก โดย อบจ.ภูเก็ตจะซื้อถุงยังชีพจำนวน1แสนถุงทำไม่ได้

ต้องให้ อบต. เทศบาลทำหนังสือร้องขอมาที่ อบจ.ภูเก็ตและต้องเข้าคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนท้องถิ่นแต่ละแห่งให้เรียบร้อยแล้วกลับมาหา อบจ.มาประชุมกันอีกกว่าจะได้ช่วยเหลือประชาชนสิ่งทั้งปวงไม่โทษใครแต่อยากฝากประชาชนกับกรรมาธิการฯ ช่วยกันหาสิ่งดี ๆ ให้ประเทศไทยกับภูเก็ต

“ก่อนโควิด-19 ภูเก็ตมีรายได้ประมาณปีละ 4 แสนล้านบาทแต่เงินจัดสรรมาให้คนภูเก็ต เหมิอนเป็นเศษเนื้อข้างเขียง พวกเราทำงานกันแทบตายรับทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งถนนพัง ของแพง ห้างร้านต่าง ๆ มาขายของให้คนภูเก็ตแต่เงินกลับไปให้ที่กรุงเทพมหานคร กับภาษี VAT ที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน มีแต่ห้างบิ๊กซี กับซูเปอร์ชีปเท่านั้น ที่ได้ให้เงินภาษี VAT 7% กับภูเก็ต” นายเรวัตกล่าว

ด้าน นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวว่า การกระจายอำนาจ ยกระดับภูเก็ตเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษมีการพูดกันมานานหลาย 10 ปีแต่ไม่มีความคืบหน้า ควรมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในข้อจำกัดระเบียบกฎหมายให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ ขอเรียกร้องว่าเมื่อถ่ายโอนแล้วต้องให้อำนาจตัดสินใจอย่ามองว่าท้องถิ่นคิดไม่เป็น

ล่าสุดมีการพูดปลดล็อกท้องถิ่นในสภาไม่ทราบผ่านหรือไม่ ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่เคยได้งบประมาณถึง 30% เงินที่ให้ทัองถิ่นมาก็ไม่ตรงกับที่ขอไปกลับมาในรูปของ อสม.และอาหารเสริมนักเรียนไม่ตรงกับประเด็นที่ขอไป เป็นความเจ็บปวดที่เราอยากทำแต่ทำไม่ได้ซึ่งท้องถิ่นมีปัญหาในการทำงานที่ไม่มีกฎหมายชัดเจนของท้องถิ่นขอให้การกระจายอำนาจทำได้ชัดเจนถ้าให้ท้องถิ่นทำเองมีความเจริญแน่นอน

ด้าน นายมาโนชกล่าวว่า การกระจายอำนาจ เป็นหัวใจของระบบการบริหารจัดการจะรวบอำนาจไม่ได้ต้องมีการกระจายสู่ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง การพัฒนาประเทศที่มีความเจริญได้จะใช้ระบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

“ในส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯไม่ใช่สิ่งใหม่ที่กรุงเทพมหานครมีการเลือกตั้งด้วยคะแนนมากมาแล้ว และเป็นที่พิสูจน์การบริหารงานใน 4 ปี ประชาชนสามารถตรวจสอบจับต้องได้ และเห็นด้วยอย่างยิ่งควรให้ภูเก็ตมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วยขนาดพื้นที่และขนาดงบประมาณเพราะว่าภูเก็ตรอพัฒนาโดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” นายมาโนชกล่าว

ด้าน นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ในนามสภาพลเมืองภูเก็ต กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่เรียกร้องกันมานานทุกคนรู้ปัญหาไม่มีใครคัดค้าน ส.ส.มาหาเสียงทุกคนเมื่อได้รับตำแหน่งขึ้นไปก็เงียบไม่มีการสานต่อ เวลาหาเสียงเก่งพูด กระจายอำนาจลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน คำพูดสวยหรู ผ่านมากี่ปีแล้วก็เหมือนเดิม

เขากลัวว่าจะเป็นรัฐอิสระ เราเรียกร้องเรื่องจะพิมพ์ธนบัตรเองมั้ย จะไปดำเนินการนโยบายต่างประเทศเองหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เราพูดว่า จะมาซ่อมถนน แก้น้ำท่วม ให้ชาวบ้านมีกินไม่ต้องเอาลองกองไปทิ้งบนถนน ข้อเสนอให้ต่างจังหวัดยังมีผู้ว่าฯ และส่วนราชการได้ แต่ให้ลดบทบาทลง ให้มีสภาจังหวัดเข้ามาจากการเลือกตั้งยังเหมือนเดิมซูเปอร์ อบจ.และสภาพลเมืองจังหวัดทุกสาขาอาชีพส่งตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่เสนอตรวจสอบให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาช่วยกันดูแผนพัฒนาจังหวัดช่วยกันตรวจสอบ และเสนอให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง วาระ 4 ปี ทำทุกเรื่องแก้ปัญหาจังหวัด พัฒนาจังหวัด

การเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดควรนำร่องภาคละ 1 จังหวัด ให้เกิดการศึกษาถอดบทเรียนข้อดีข้อเสีย ในระยะเวลา 2-3 ปี รูปแบบไหนดีที่สุดแล้วจึงทำให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งรูปแบบการปกครองพิเศษคือ ต้องออกกฎหมายเองได้และทุกคนมาจากการเลือกตั้ง แต่พรรคที่น่ากลัวที่สุดคือ พรรคข้าราชการทำงานเช้าชามเย็นชาม รอวันเกษียณ ถ้าไม่แก้ระบบให้เป็นกึ่งเอกชนให้เงินเดือนสูงขึ้นคนเก่ง ๆ จะได้เข้ามาทำงานฉับไว และขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านจะต้องรวดเร็ว