อสังหาอุดรฯ เฮรับผังเมือง ปลดล็อกเอื้อลงทุน

รองผู้ว่าฯอุดรฯ มีมติปรับปรุงผังเมืองรวม หลังโครงการพันล้านบาทขึ้นไม่ได้ ด้านนายกสมาคมอสังหาฯอุดรฯชี้เป็นเรื่องที่ดี สร้างโอกาสเมืองเติบโตรูปแบบชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานีเมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่าผังเมืองดังกล่าวมีผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการมูลค่ารวมหลักพันล้านบาท เนื่องจากติดพื้นที่สีเขียว ซึ่งเรื่องดังกล่าวเอกชนในพื้นที่ได้นำเสนอต่อราชการมาตลอด กระทั่งการประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ห้องคำชะโนด ศาลากลางหลังเก่าจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้มีมติเห็นควรให้มีการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดอุดรธานี

พันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่มีการอนุมัติให้ปรับปรุงผังเมืองรวมอุดรธานีนั้น ในมุมมองของผู้ประกอบการ คือ ดีแน่นอน เพราะผู้ประกอบการจะได้แสดงความคิดเห็นว่าแนวทางในการพัฒนาเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด อีกทั้งการปรับปรุงเงื่อนไข และออกข้อกำหนดให้ตรงกับความต้องการของการพัฒนา แสดงให้เห็นถึงโอกาสของเมืองจะโต และเป็นการออกแบบสำหรับอนาคตข้างหน้ามากกว่าจะปล่อยให้เมืองโตแล้วติดผังเมืองล็อกแล้วค่อยมาแก้ไข

“มติครั้งนี้ถือเป็นมุมมองที่มองไปข้างหน้าเพื่อให้โอกาสการเติบโตของพื้นที่ ซึ่งนอกจากผังเมืองรวมแล้ว ยังมีข้อกำหนด กฎ ควบคุมอาคาร กฎหมายจัดสรร มาควบคุมอีก หรืออุตสาหกรรมก็ต้องมีพระราชบัญญัติควบคุมโรงงาน ซึ่งเป็นส่วนย่อยลงมาอีก ดังนั้นผังเมืองที่เราออกแบบจะเปิดโอกาสให้มีการเติบโตได้ ทำได้ภายใต้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กระทรวง ควบคุมอาคารโรงงาน รวมถึงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย และสิ่งที่จะพูดถึงต่อไป คือ ถนน และการคมนาคม โดยแนวทางที่ชัดเจน หากมีการระบุ จะเป็นการบอกทิศทางการพัฒนาได้ เพราะการเติบโตจะเป็นไปตามการคมนาคม เชื่อมโยงกับการเติบโตของเมือง เศรษฐกิจ และทุก ๆ ด้าน”

ด้านสุวัจน์ วิไลงาม รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ด้านโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงผังเมือง ข้อดี คือ ข้อมูลจะได้ตรงกับความเป็นจริงกับปัจจุบันมากที่สุด ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ คงจะมีการประชุมอีกหลายรอบ และต้องดูในรายละเอียดว่าส่วนไหนจะแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งในมุมมองของภาคเอกชนมีความต้องการทั้งเรื่องพื้นที่ อาคาร สำหรับโรงงานต่าง ๆ เช่น ใบอนุญาตโรงงานต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงงานและอาคารขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่จำเป็นที่ต้องทำและต้องมาแก้ไข