ตราดจับมือ “พระตะบอง” เชื่อมท่องเที่ยว

หอการค้าตราด-พระตะบองจับมือเชื่อมโยงท่องเที่ยวเกาะช้าง-พระตะบอง-โพธิสัตว์ ประธานหอการค้าตราดชี้ต้องใช้ศักยภาพ 2 ประเทศร่วมกันพัฒนาท่องเที่ยว เกษตร ชูเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตราดและคณะ ให้การต้อนรับนายคิง จันลาย รองประธานหอการค้าจังหวัดพระตะบองและประธานบริษัทเคซีไลน์ อสังหาริมทรัพย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารธุรกิจในเครือ เพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดตราดกับจังหวัดพระตะบอง

นายคิง จันลาย กล่าวว่า ชาวกัมพูชามีความสนใจเกาะช้างอย่างมาก เนื่องจากมีหาดสวยและอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญราคาที่พักไม่แพงมากนัก เหมาะที่จะเปิดเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดตราดกับจังหวัดพระตะบอง ซึ่งบริษัทเคซีไลน์ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัททัวร์รองรับไว้แล้ว คาดว่าจะสามารถนำนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวได้ในเร็ว ๆ นี้ และล่าสุดรัฐบาลกัมพูชาได้มอบให้จังหวัดพระตะบองสามารถทำ

บอร์เดอร์พาสผ่านแดนเองได้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยมีค่าใช้จ่ายคนละ 200 บาท บัตรมีอายุ 2 ปี ทำให้มีความสะดวกรวดเร็วในการเข้าออกมากขึ้น

“เกาะช้างมีชายทะเล มีชาวกัมพูชาต้องการมาเที่ยวอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่จังหวัดของกัมพูชาที่ติดทะเลจะอยู่ไกล ไม่ว่าจะเป็นกัมปอต หรือสีหนุวิลล์ แต่การเดินทางมาจังหวัดตราดใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกว่า ๆ คาดว่าชาวกัมพูชากลุ่มที่มีเงินทั้งจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดโพธิสัตว์จะสนใจมาท่องเที่ยวเกาะช้างและจังหวัดตราดได้มากขึ้น ขณะที่พระตะบองและโพธิสัตว์มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ น้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกันได้”

นอกจากการท่องเที่ยว นายคิงยังกล่าวอีกว่า มีแผนขอสนับสนุนการเรียนรู้การแปรรูปผลไม้จากประเทศไทย พร้อมกับพืชผลที่จำนำมาเสนอ ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงแก้วขมิ้น พริกไทย และกล้วย โดยใช้ช่องทางด้านจุดผ่อนปรนทางการค้าเนิน 400 บ้านมะม่วง อำเภอบ่อไร่

เชื่อมโยง – ประธานหอการค้า จังหวัดพระตะบองเดินทางมาดูเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดตราดและจังหวัดพระตะบอง โดยให้ความสนใจเกาะช้าง เนื่องจากมีความสวยงาม และเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชากำลังซื้อสูง

ด้านนายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาอนาคตจังหวัดตราดคือศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ของจังหวัดพระตะบองและโพธิสัตว์ ซึ่งมีชายแดนติดกับจังหวัดตราด พบว่ามีความอุดมสมบูรณ์ในการทำเกษตรกรรมมาก แต่การปลูกพืชยังเป็นพืชที่มี

มูลค่าต่ำ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หากมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเป็นพืชไม้ผลและมีการพัฒนาคุณภาพ เช่น ทุเรียน เงาะ จะช่วยสร้างมูลค่าให้เกษตรกรได้มาก และอาจจะมีการนำเข้ามาแปรรูปฝั่งไทย ซึ่งทางจังหวัดตราดมีโรงงานแปรรูปที่สามารถรองรับได้

ขณะเดียวกันทางฝั่งไทยต้องใช้แรงงานกัมพูชามาก จึงต้องการให้ทางจังหวัดพระตะบองเป็นเซ็นเตอร์อำนวยความสะดวกเรื่องการทำบอร์เดอร์พาส เพราะแรงงานนอกจากจะมาจากพระตะบอง โพธิสัตว์แล้วจะมาจากหลายจังหวัดที่ห่างไกล เช่น ตะแก้ว กำปงสะปือ กัมปอต บันเตียเมียนเจย เป็นต้น ในขั้นต้นของการพัฒนาร่วมกันจะใช้การท่องเที่ยวนำไปก่อนเพราะทำได้ทันที และการท่องเที่ยวจะเชื่อมโยงได้ทุก ๆ เรื่องที่กัมพูชานำไปพัฒนาได้ เช่น ท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

“ถ้าเราเอาศักยภาพของกัมพูชาและไทยมาใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านเกษตรกรรม การแปรรูปไทยไปช่วยพัฒนาจะสร้างรายได้ให้กับทั้งสองฝ่าย” นายวุฒิพงศ์กล่าว