นำร่อง “มะม่วงแก้วขมิ้น” เชื่อมการค้า “กัมพูชา”

สนค.หนุนการค้าเมืองคู่มิตร นำร่องมะม่วงแก้วขมิ้นเพิ่มมูลค่า เชื่อมการค้าไทย-กัมพูชา ด้านชายแดนจันทบุรี-ตราดกับเพื่อนบ้านพระตะบอง ไพลิน สร้างโมเดลให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนในรูปแบบประชารัฐ ผลักดันโรงงานแปรรูปไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งออก คาดใน 4 ปี มูลค่าเพิ่มเป็น 30,501 ล้านบาท

ดร.ธนภัท แสงอรุณ นักวิชาการพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเวที CLMV Forum เมื่อปี 2559 ภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จ.จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ได้มีข้อตกลงในการพัฒนายุทธศาสตร์การค้าผลไม้ระหว่างกลุ่มจังหวัดของไทยกับ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ในโครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities) ทั้งนี้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมร่วมกันและคัดเลือกมะม่วงแก้วขมิ้นเป็นผลไม้นำร่องในปี 2561 โดยพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ คือ ท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อน ภาครัฐช่วยสนับสนุนทั้งไทยและกัมพูชา คาดระยะ 4 ปีเพิ่มมูลค่าได้ จากประมาณ 23,462 ล้านบาท เป็น 30,501 ล้านบาท

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย และนักวิชาการหัวหน้าคณะวิจัย โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล กล่าวว่า มะม่วงแก้วขมิ้นเป็นผลไม้ที่น่าจับตามอง เพราะเหมาะนำมาต่อยอดแปรรูปในไทยเพื่อส่งออก ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยนำเข้าและแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 ชนิด

สินค้ายอดฮิต – กัมพูชาเป็นแหล่งผลผลิตมะม่วงแก้วขมิ้นที่สำคัญ โดยปี 2560มีผลผลิตประมาณ 1.3 ล้านตัน ส่งออกไปยังเวีดนามประมาณ 70% และไทยอีกประมาณ 30% ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะนำเข้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จ.จันทบุรีเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม

 

โดยปี 2560 กัมพูชามีผลผลิตมะม่วงแก้วขมิ้น 1.3 ล้านตัน ส่งผลสดมาไทย 388,656 ตัน หรือ 30% และเวียดนาม 906,864 ตัน หรือ 70% โดยเวียดนามส่งไปจีน 362,746 ตัน และเกาหลี 90,686 ตัน ซึ่งไทยนำเข้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จ.จันทบุรี ประมาณ 90% โดย 70% เป็นผู้ประกอบการแปรรูปขนาดใหญ่ของ จ.จันทบุรี ราชบุรี และตราด และอีก 30% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย

“ปี 2560 มูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมมะม่วงแก้วขมิ้น 23,462 ล้านบาท แยกเป็น ต้นน้ำ 5,830 ล้านบาท กลางน้ำ 10,882 ล้านบาท และปลายน้ำ 6,750 ล้านบาท คาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่า 30,501 ล้านบาท แต่ต้องขยายตลาดเพิ่มขึ้น เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง สิงคโปร์ อเมริกา และยุโรป ที่ต้องการสินค้าออร์แกนิก มองว่าจันทบุรีจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงได้” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว

ด้านนายบุญเที่ยง พฤกษากิจ ผู้จัดการและเจ้าของบริษัท จันทบุรี ฟรุ๊ต โปรดักส์ จำกัด จ.จันทบุรี กล่าวว่า โรงงานแปรรูปใน จ.จันทบุรี มีประมาณ 10 แห่ง เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 3-4 แห่ง ปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบเพราะสามารถนำเข้าจากกัมพูชาได้อย่างสะดวก แต่ปัญหาสำคัญคือตลาด เพราะมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่ต้องแข่งขันกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่มีต้นทุนต่ำกว่า

“ผลไม้แปรรูปของไทยมีคุณภาพมากกว่า แต่ผู้ส่งออกดัมพ์ราคาแข่งขัน ทางออกจะต้องหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดพรีเมี่ยมที่รักษาสุขภาพและนิยมสินค้าออร์แกนิก ในส่วนของต้นน้ำไม่มีปัญหา เนื่องจากผลิตได้จำนวนมากและราคาอยู่ในระดับที่รับได้ โดยมีราคาสูงสุด 10-12 บาท/กก. ขณะที่ มี.ค.-เม.ย.อยู่ที่ 5-6 บาท/กก. ทำให้ต้นทุนไม่สูงนัก แต่สิ่งสำคัญควรพัฒนาและรักษาคุณภาพมากกว่ามาแข่งขันกันทางด้านราคา” นายบุญเที่ยงกล่าว