จุดพลุ ครม.สัญจร จันทบุรี-ตราด โอกาสการพัฒนา… เกาะช้าง

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำทัพ ครม.ชุดใหญ่ ลงพื้นที่จันทบุรีและตราด เมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีภารกิจหนึ่งตรวจเยี่ยมพื้นที่เกาะช้าง ในการรับข้อเสนอโครงการเพิ่มศักยภาพพื้นที่หมู่เกาะช้าง เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอย่างยั่งยืนนั้น ล่าสุดได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการโครงการเร่งด่วน คือ โครงการพัฒนาถนนเชื่อมรอบเกาะ และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว รวมถึงปัญหาที่อุทยานฯทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้าน

ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เสนอเส้นทางแนวสีน้ำเงิน ระยะทาง 10.4 กิโลเมตร ระดับดิน 6 กิโลเมตร ยกระดับ 4.4 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่บ้านคลองกลอย ผ่านบ้านหวายแฉก และบ้านสลักเพชร ซึ่งเป็นเส้นทางที่หลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1A ทั้งนี้ให้กรมทางหลวงชนบทสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินโครงการ

ถนนเชื่อมเกาะช้าง 2.5 พัน ล.

“จักรกฤษณ์ สลักเพชร” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้างใต้ จ.ตราด กล่าวว่า ถนนบนเกาะช้างมีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร แต่ยังเหลือระยะทางอีกกว่า 10 กิโลเมตรที่ยังไม่เชื่อมรอบเกาะ ส่งผลให้ชาวบ้านฝั่งหมู่บ้านบางเบ้า-บ้านสลักเพชร เดินทางไม่สะดวก และเสียค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งได้เสนอขอให้อุทยานฯทำถนนเชื่อมต่อตั้งแต่ปี 2545 และในปี 2556 ได้มีการทำ EIA แต่ไม่ผ่าน เนื่องจากเป็นบริเวณเขตลุ่มน้ำนานาชาติชั้นเอ

ภายหลัง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับฟังความคิดเห็น จึงขอให้มีการทำถนนเชื่อมต่อโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง และเชื่อว่าการตัดถนนจะช่วยให้ชาวบ้านเกาะช้างอยู่ดูแลทรัพยากรป่าไม้ ไม่ขายที่ดิน ทำให้มีการกระจายรายได้ ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจเกาะช้างในอนาคต รองรับการพัฒนา EEC ถนนที่เลียบชายฝั่งทะเลจะผ่านบริเวณหัวหาดหวายแฉกที่สวยที่สุดของเกาะช้าง เป็นจุดขายธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวของเกาะช้างที่คุ้มค่ามาก แต่สิ่งที่ต้องหารือกันอีกคือเรื่องของงบประมาณที่เดิมงบประมาณก่อสร้างอยู่ที่ 1,889 ล้านบาท ปรับเป็น 2,500 ล้านบาท

แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน

ขณะเดียวกัน การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างเมื่อปี 2525 ก็สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านที่ทำกินและอยู่อาศัยมาก่อนร่วม 100 ปี โดยมีที่ดินที่กรมอุทยานฯประกาศทับซ้อนประมาณ 50% เช่น หมู่บ้านเจ๊กแบ้เกือบทั้งหมู่บ้าน โรงเรียนประชุมเมฆอัมพร และที่ดิน บภท.5 ที่มี 956 แปลง พื้นที่ 19,888 ไร่ ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ต้องสำรวจเร่งพิสูจน์สิทธิ์ใหม่ เป็นรายแปลงและอนุมัติเป็นแปลงไป โดย อบต.เกาะช้างใต้มีหนังสือร้องขอไปยังกรมอุทยานฯแล้ว

ด้าน “เกริกชัย พรหมดวง” ธนารักษ์พื้นที่ตราด กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้รับมอบที่ดินที่ราชพัสดุบนเกาะช้างตามมติ ครม.ปี 2510 ให้ดูแลพื้นที่ 18,000 ไร่ ซึ่งจัดให้ชาวบ้านเช่าไปแล้ว แต่ปี 2525 กรมอุทยานฯประกาศมีพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งตามระเบียบจำกัดสิทธิ์ชาวบ้านในการประกอบอาชีพ ต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกับที่ของชาวบ้าน

อ่างเก็บน้ำคลองพร้าวแก้แล้ง

ขณะที่ “วันรุ่ง ขนรกุล” กำนันตำบลเกาะช้าง กล่าวว่า ปี 2560 เกาะช้างมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.3 ล้านคน ทำรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท และแนวโน้มนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยช่วงฤดูแล้งปัญหารุนแรงต้องซื้อน้ำ ซึ่งท้องถิ่นได้มองเห็นปัญหาและเสนอขอสร้างอ่างเก็บน้ำมาร่วม 16 ปีแล้ว โดยกรมชลประทานออกแบบไว้ขนาด 2.35 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถรองรับปริมาณการใช้น้ำได้ทั่วทั้งเกาะในระยะยาว 10 ปี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ 93 ไร่ และเอกชน 13 ไร่ โดยได้ทำข้อตกลงทั้งหมดแล้ว

ทั้งนี้เมื่อปี 2556 กรมชลประทานได้ทำการศึกษา EIA และออกแบบ ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาทเศษ แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ ล่าสุดกรมอุทยานฯยังไม่อนุมัติเรื่องผลกระทบทางน้ำ (ปะการัง) ซึ่งกรมชลประทานมีมาตรการแก้ไขรองรับแล้ว


รมว.ทส.ให้เร่งโปรเจ็กต์ถนน

“พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายหลังนายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาความต้องการของพื้นที่อำเภอเกาะช้าง และได้ให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเกาะช้าง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 จึงได้นัดประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อพิจารณาโครงการสร้างถนนเชื่อมรอบเกาะช้าง และอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว ซึ่งทั้งสองโครงการต้องดำเนินการเร่งด่วนและต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว ส่วนปัญหาพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทับซ้อนกับกรมอุทยานฯจะมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนต่อไป

“ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางน้ำ (ปะการัง) กรมชลประทานได้มีมาตรการแก้ไข โดยต้องเร่งประสานกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯให้เร็วที่สุด และนำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานและอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ต่อไป น่าจะไม่มีปัญหา ส่วนปัญหาถนนรอบเกาะ จะต้องมีการประสานกรมป่าไม้ และกรมทางหลวงชนบท เพื่อสำรวจเส้นทางที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วนเช่นกัน ส่วนการพิสูจน์สิทธิ์ต้องมีการลงพื้นที่ และจัดตั้งคณะทำงานตามแนวประชารัฐ พูดคุยปรับทัศนคติ ให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

ด้าน “ดร.ประธาน สุรกิจบวร” รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวถึงทางเลือกการเชื่อมถนนรอบเกาะช้างว่า ในแผนเดิมการเชื่อมถนนมี 3 แนวทางเลือก ซึ่งล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เสนอเส้นทางที่ไม่ผ่านลุ่มน้ำชั้น 1A แต่ใช้งบประมาณถึง 2,500 ล้านบาท แต่หากใช้แนวถนนดินเดิมของอุทยานที่มีอยู่แล้ว กว้าง 3 เมตร (แนวกั้นถนน 6 เมตร) และทำถนนให้ทะลุไปอีก 3 กิโลเมตร น่าจะใช้งบประมาณไม่มากนักจากที่ประมาณ 300 ล้านบาท แต่ต้องผ่านลุ่มน้ำนานาชาติชั้น 1A หากกรมอุทยานแห่งชาติฯอนุมัติตามมาตรา 19 น่าจะใช้งบประมาณกรมทางหลวงชนบทก่อสร้างได้ ส่วนการบริหารจัดการการใช้เส้นทางช่วงนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานเกาะช้างจะดูแลความปลอดภัยพื้นที่ที่มีความเสี่ยง กำหนดเวลาปิด-เปิด และผ่านได้กรณีฉุกเฉิน ถ้าเป็นแนวทางนี้จะทำให้ก่อสร้างได้เร็วขึ้นเพราะใช้งบประมาณไม่มาก


ในอนาคตประชาชนบนเกาะช้างคงจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะรับอานิสงส์ตามมาด้วย