โรงสีใต้วิกฤตนา 7 แสนไร่หาย วอนรัฐหนุน ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจูงใจ

โรงสีใต้วิกฤต

โรงสีใต้วิกฤตขาดข้าวเปลือก เหตุแหล่งปลูกข้าวใหญ่ 3 จังหวัดลดฮวบจาก 1 ล้านไร่ เหลือเพียง 300,000 ไร่ วอนรัฐบาลหนุนทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานพื้นที่ ดันตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทำนา

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ เจ้าของโรงสีข้าวโสภณเจริญพาณิชย์ นายกกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงสีข้าวในพื้นที่ภาคใต้กำลังเกิดปัญหาวิกฤตข้าวอย่างรุนแรง เนื่องจากแหล่งปลูกข้าวใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ 3 จังหวัด

ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ซึ่งในอดีตเคยมีพื้นที่ทำนากว่า 1 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่ทำนาเพียงประมาณ 300,000-400,000 ไร่ โดยพื้นที่นากว่า 700,000 ไร่ ในอดีตได้ถูกปล่อยทิ้งเป็นนาร้าง และบางส่วนได้เปลี่ยนไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของภาคใต้ และทางภาคใต้ต้องนำเข้าข้าวจากภาคกลางและภาคอีสานถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และยังต้องนำเข้าข้าวเปลือก เพื่อมาป้อนโรงสีข้าวแปรรูปเป็นข้าวสาร

โดยภาพรวมแล้วโรงสีข้าวทำงานได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากโรงสีข้าวที่มีอยู่ประมาณ 100 โรงที่เป็นสมาชิกสมาคม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวของโรงสีข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 บาท/ตัน หรือประมาณ 1 บาท/กก. นอกนั้น 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นข้าวในพื้นที่นาทางภาคใต้

“แนวโน้มทิศทางการทำนาอีก 10 ปีข้างหน้า หากไม่ได้รับการรณรงค์จากภาครัฐและสนับสนุนจากรัฐบาลก็จะเหลือพื้นที่นาน้อยมาก และจะต้องนำเข้าข้าวจากภาคอื่นเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูง

และในที่สุดจะได้บริโภคข้าวในราคาที่สูงขึ้น ไม่ต่ำกว่า 35-50 บาท/กก. เพราะขณะนี้ข้าวสารเกรดกลาง ๆ ราคา 35-38-40 บาท/กก. ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยต้องทำนาให้ได้ประมาณ 1 ล้านไร่ ประมาณ 700,000 ตัน/ฤดูกาล จึงจะสมดุล” นายสุทธิพรกล่าว

นายสุทธิพรกล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ชาวนาทิ้งนาข้าวให้เป็นนาร้าง และมีชาวนาบางส่วนหันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะขาดแคลนแหล่งน้ำ ไม่มีระบบชลประทาน และไม่มีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงพื้นที่ทำนา รวมถึงเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าว และพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้ได้คุณภาพมีปริมาณผลผลิตที่สูง

ทั้งหมดจะเป็นปัจจัยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องรัฐบาลจะต้องสนับสนุน แนวทางสำคัญรัฐบาลจะต้องออกแบบวางกรอบพื้นที่ทำนา 3 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทำนา”

รัฐบาลต้องมีการรณรงค์เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้ความสำคัญในการทำนา เพราะเป็นความมั่นคงทางอาหาร เพราะปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่จะหันหลังให้กับอาชีพการทำนา

นายสุทธิพรกล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการตลาดค้าข้าวทางภาคใต้ รัฐบาลไทยต้องเจรจากับรัฐบาลมาเลเซีย ส่งออกข้าวไปยังประเทศมาเลเซียเสรี เพราะปัจจุบันมีบริษัทของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าแต่เพียงรายเดียว ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าวภาคใต้ส่งข้าวออกได้โดยตรง และชาวมาเลเซียเองก็นิยมบริโภคข้าวไทยมาก และจะเป็นเหตุสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาหันกลับมาทำนามากขึ้น

นายสมศักดิ์ พานิช เจ้าของโรงสีข้าวทิพย์พานิช เจ้าของนา และประธานชมรมโรงสีข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลามีพื้นที่ทำนาข้าวประมาณ 100,000 ไร่ แต่ปรากฏว่าได้หันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันประมาณถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ทำให้ต้องมีการนำเข้าข้าวจากภาคกลาง ภาคอีสานเข้ามาขาย ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการส่งข้าวจาก จ.สงขลาไปขาย โดยจังหวัดชายแดนมียอดขายที่ดี เนื่องจากชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจะซื้อกลับไปไม่เกินที่ทางการมาเลเซียกำหนดไว้

การนำเข้าข้าวเข้าไปประเทศมาเลเซียปริมาณมาก มีบริษัทของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าแต่เพียงรายเดียว แต่หากรัฐบาลไทยสามารถทำการเจรจากับรัฐบาลมาเลเซีย เปิดการนำเข้าส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียได้แบบเสรี จะเป็นการดีกับพ่อค้ารายย่อย และชาวนาภาคใต้ด้วย

เพราะหากส่งออกได้ ภาพรวมราคาข้าวจะดี เช่น ราคาข้าวสารทางใต้ ราคา 13 บาท/กก. ที่ประเทศมาเลเซียราคา 20 บาท/กก. แต่จะขึ้นอยู่กับค่าเงินริงกิตอ่อนหรือแข็งด้วย

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่การทำนา จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ภาพรวมจะให้ผลผลิตประมาณ 600-700 กก.ต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ประเภทข้าวพื้นเมือง และข้าว กข. ปัจจุบันเหลือพื้นที่ทำนาประมาณ 300,000-400,000 ไร่/ฤดู ได้ข้าวเปลือกประมาณกว่า 200,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,995 ล้านบาท/ฤดู