ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง งัด e-Customs ร่นเวลานำเข้า

ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังใช้ระบบ e-Customs ในการนำเข้า-ส่งออก เผย 1 มี.ค. 61 ดีเดย์ยื่นเอกสารการนำเข้าทางเรือล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมง หวังร่นระยะเวลาทั้งกระบวนการ เตรียมติดตั้งระบบฟาสต์สแกนตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มอีก 3 เครื่อง พร้อมนำระบบ e-Lock ใช้ตรวจการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า

นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ปัจจุบัน ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังมีหน้าที่รับผิดชอบท่าเทียบเรือภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง 14 แห่ง ท่าเทียบเรือเอกชนภายนอกเขตท่าเรือแหลมฉบัง 2 แห่ง และมีอีก 1 แห่งกำลังขอเป็นท่าเรืออินเตอร์ รวมถึงที่ทอดเรือภายนอกเกาะสีชัง เขตประกอบการเสรี 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เขตปลอดอากร 30 แห่ง คลังสินค้า 13 แห่ง และคลังสินค้าอันตราย 1 แห่ง

โดยพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออก ใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Customs ทั้งหมด 100% เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความโปร่งใสแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงใช้ระบบบริหารความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการผ่านพิธีการสินค้า ซึ่งขาเข้าจะตรวจสอบประมาณ 10% โดยตรวจ 2 ลักษณะ คือ เครื่องเอกซเรย์ ถ้าสินค้าใดน่าสงสัยหรือไม่สามารถตรวจได้ด้วยเครื่องเอกซเรย์ ก็จะเปิดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ ขณะที่ขาออกตรวจสอบ 5%

เดินหน้า – ปัจจุบันศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ถาวรในการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าทั้งหมด 5 ตู้ และเตรียมติดตั้งเป็นระบบฟาสต์สแกน หรือให้รถวิ่งผ่านอีก 3 เครื่อง ซึ่งขณะนี้กำลังทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูล


ขณะที่การนำเข้าทางเรือ (prearrival prosessing by ship) ในวันที่ 1 มีนาคม 2561 สามารถยื่นเอกสารล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะลดระยะเวลากว่า 48 ชั่วโมง โดยระยะเวลาการนำเข้าสินค้าทางเรือเพียง 1.31-15.8 นาทีเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เวลาไม่เกิน 35 วินาที การชำระภาษีอากรใช้เวลา 56 วินาที ส่วนในกรณีที่ติดเงื่อนไข จะใช้เวลาในการพบเจ้าหน้าที่หรือการตรวจสอบเอกสาร 1.29 นาที การตรวจสินค้า 12.8 นาที ทั้งนี้การชำระภาษีอากร สามารถทำได้ที่ด่านศุลกากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือชำระผ่านธนาคาร โดยด่านศุลกากรแหลมฉบังก็มีระบบใช้การ์ดรูดได้ ขณะนี้มีประมาณ 10 เครื่อง

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ถาวรในการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าทั้งหมด 5 ตู้ เป็นระบบการตรวจเอกซเรย์ขบวนรถไฟ 1 เครื่อง รถยนต์ 4 เครื่อง และเตรียมติดตั้งเป็นระบบฟาสต์สแกน หรือให้รถวิ่งผ่านอีก 3 เครื่อง ซึ่งขณะนี้กำลังทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูล รวมถึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในการนำระบบตรวจจับกัมมันตรังสีมาใช้ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 8 จุด และเตรียมเพิ่มอีก 2 จุด อีกทั้งได้ร่วมมือกับอังกฤษ ในการดำเนินโครงการ Container Control Programme โดยอังกฤษได้ส่งเจ้าหน้าที่ port control unit (PCU) มาสอนและทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ได้นำระบบติดตามทางศุลกากร (tracking system) มาใช้ เนื่องจากสินค้าที่เข้ามาที่แหลมฉบัง ประมาณ 40% มีการลากตู้ไปปลดปล่อยที่ด่านศุลกากรอื่น และมีบางส่วนที่เป็นการผ่านแดน ระบบนี้จะใช้เทคโนโลยี e-Lock ที่มีการนำระบบ GPS เข้ามาประกอบ โดย e-Lock จะตรวจสอบการเคลื่อนที่ของตู้สินค้าว่ามีการเดินทางเส้นทางใด ออกนอกเส้นทางหรือไม่ มีการเปิดตู้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงมาก