กาฬสินธุ์ ชวนเที่ยวงาน “มาฆปูรณมีบูชา” ชู “ทะเลธุง” อีสาน 1,000 ต้น

ภาพธุง

กาฬสินธุ์จัดงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา” ชู “ทะเลธุง” อีสานกว่า 1,000 ต้น พร้อมขบวนแห่สักการะพระธาตุยาคูจากเมืองต่าง ๆ ทั้ง 18 อำเภอ รวมทั้งการฟ้อนรำสมมาบูชาพระธาตุยาคู นางรำกว่า 2,300 คน เผยตำนานธุงอีสานขับไล่มารร้ายไปจากสวรรค์ สู่การเป็นเครื่องสักการะในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

วันที่ 4 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดกาฬสินธุ์จัดงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา” ทะเลธุงอีสาน อัญเชิญพระอุปคุตเข้าเมือง ระหว่างวันที่ 3-12 มีนาคม 2566 ที่โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมเวียนเทียนถวายธุงเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุยาคู

โดยมีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ และข้าราชการ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้แก่ชุมชน

กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย ความตระการตาของทะเลธุงหลากสีกว่า 1,000 ต้น , ขบวนแห่สักการะพระธาตุยาคูจากเมืองต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอ , ชมการฟ้อนรำสมมาบูชาพระธาตุยาคู นางรำกว่า 2,300 คน , การแสดงแสง สี เสียง มินิไลท์แอนด์ซาวด์ ชุด ตามรอยอารยะ มาฆปูรณมีบูชา ทวารวดีมิ่งหล้าเมืองฟ้าแดดสงยาง ,

การแสดงโขนทั่วทิศแผ่นดินไทย เรื่องรามเกียรติ์ ชุด พรหมพงศ์วงศ์อสุรา , การแสดงแบบผ้าไทย พัสตราภรณ์ จากท้องถิ่นสู่สากล , การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น , การสาธิตการทำธุง

และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน จาก 18 อำเภอ ในเฮือนโบราณย้อนยุค และตลาดนัดโบราณทวารวดี ของดีบ้านฉัน ผลผลิตจากชาวบ้านที่นำมาจำหน่ายทั้งผ้าแพรวา ราชินีแห่งไหม ผลิตภัณฑ์จักสาน

ตำนานเรื่องเล่า “ตุง” หรือ “ธุง” อีสาน

จากเพจ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา กลุ่มอาชีพบ้านเขวา หมู่ที่ 1 ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ระบุไว้ว่า ในงานบุญประเพณีแต่ละเดือนของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์ “ตุง” หรือ “ธุง” หลากหลายรูปแบบและหลากหลายสีสันบนผืนผ้าหรือใช้วัสดุสิ่งอื่นเพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ

มีความเป็นมาจากเรื่องเล่าเมื่อครั้งในอดีตว่า มีพวกเหล่ามารปีศาจขึ้นไปก่อกวนเทวดาบนสวรรค์ จนทำให้เหล่าเทวดาตกใจกลัวเป็นอย่างมาก ทำให้เจ้าแห่งสวรรค์สร้าง “ตุง” ขึ้นมา เพื่อให้เหล่าเทวดาได้มองเห็น “ตุง” แล้วเกิดความกล้าหาญไม่หวาดกลัวเหล่ามารปีศาจอีกต่อไป

“ตุง” จึงเป็นเหมือนตัวแทนในการขับไล่มารร้ายไปจากสวรรค์นั้นเอง ทำให้ในกาลต่อมามนุษย์จึงได้ประดิษฐ์ “ตุง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งเพื่อเป็นพุทธบูชา รวมถึงเป็นปัจจัยการส่งกุศลให้แก่ตนเองในชาติหน้าจะได้เกิดบนสรวงสวรรค์ต่อไป

“ตุง” จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องสักการะ เพื่อใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนา ในบุญเฉลิมฉลอง หรือขบวนแห่ต่าง ๆ การประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ เพื่อความสวยงามตระการตา โดยมีความแตกต่างกันตามความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมของท้องถิ่น

โดยทั่วไปตุงจะมีลักษณะคล้ายกับธงมีความยาวประมาณ 1 – 3 เมตร อาจทอด้วยผ้าฝ้ายเป็นลายขิด ลวดลายสัตว์ คน ต้นไม้ หรือพระพุทธรูป เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นพุทธบูชา คำว่าตุง ก็คือ ทุง หรือ ธง นั่นเอง

โดยเป็นลักษณะธงแบบห้อยยาวจากบนลงล่าง เมื่อเข้าไปในวิหาร ก็จะเห็นตุงหลากหลาย ตุงเหล่านี้ทำมาจากวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า กระดาษ ธนบัตร เป็นต้น มีขนาด รูปทรงตลอดจนการตกแต่งต่างกันออกไปตามระดับความเชื่อ ความศรัทธา และฐานะ ทางเศรษฐกิจของผู้ถวายคติความเชื่อเกี่ยวกับการถวายตุง

ชาวบ้านที่นำตุงมาถวายเป็นพุทธบูชา เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือเป็นการถวายเพื่อส่งกุศลผลบุญให้แก่ตนเองในชาติหน้า ก็ด้วยคติความเชื่อที่ว่าเมื่อตายไปแล้วจะพ้นจากการตกนรกโดยอาศัยเกาะชายตุงขึ้นสวรรค์ จะได้พบพระศรีอริยะเมตตรัย หรือ จะได้ถึงซึ่งพระนิพพาน จากความเชื่อนี้จึงมีการถวายตุงที่วัด อย่างน้อยครั้งนึงในชีวิตของตน


ส่วนตุงหรือธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาว มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่างๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือ ตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย เช่น ลูกปัดจากเมล็ดพืช ไม้แกะรูปทรงต่างๆ เป็นต้น ตุงมีชื่อเรียกต่างๆ มากมายตามการใช้งาน และรูปร่างรูปทรง เช่น ธุงงราว ทำจากผ้าหรือกระดาษอาจเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรืออื่น ๆ นำมาร้อยเรียงเป็นราวแขวนโยง