ทช. ปรับแผนแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะฝั่ง พื้นที่ 145 กม. รอจัดการ “ปากพนัง” หนักสุด !

กรมทรัพยากรทางทะเลฯปรับแผนป้องกันน้ำทะเลเซาะชายฝั่งใหม่ เผยสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น จากนี้เน้นคุมพื้นที่ สร้างตะกอนหน้าดิน เหลือพื้นที่ยังไม่แก้ไข 145 กม. ภาพรวมพ้นวิกฤต มีปัญหาเร่งด่วนไม่กี่ที่ ส่วนแนวหินสู้คลื่นเสียเวลาเปล่า ทำพื้นที่กัดเซาะขยายตัว ปัญหาลุกลาม

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากการประกาศ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 โดยเฉพาะในมาตรา 21 ที่อนุญาตให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีอำนาจในการออกกฎกระทรวง เพื่อป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมีปริมาณลดลง

ข้อมูลจากการสำรวจการกัดเซาะชายฝั่งปี 2560 พบว่าได้แก้ไขแล้วระยะประมาณ 559 กม. จาก 830 กม. ปัจจุบันเหลือพื้นที่การกัดเซาะชายฝั่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเหลืออยู่เพียง 145 กม. ประกอบด้วย ชายฝั่งใน จ.ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยพื้นที่ที่มีความรุนแรงที่สุดคือ แหลมตะลุมพุก บริเวณหาด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากการถมหินทำแนวกั้นในบริเวณ อ.หัวไทร ซึ่งอยู่ใกล้เคียง มีระยะทางกัดเซาะชายฝั่ง 27.97 กม. โดยจะต้องเร่งแก้ปัญหาต่อไป

สำหรับแนวทางการรับมือการกัดเซาะทางทะเลทั่วประเทศจะเน้นแก้ไขและป้องกันที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียง โดยใช้วิธีการคุมพื้นที่และสร้างตะกอน เช่น การปลูกป่าชายเลน การปลูกป่าชายหาด การถ่ายเททราย การเติมทราย และการวางแนวไม้ไผ่ โดยแต่ละพื้นที่อาจใช้วิธีแตกต่างกันไปตามสภาพ แต่จะไม่ใช้แนวหิน หรือการสร้างโครงสร้างประเภทแข็งกันคลื่น ซึ่งจะทำให้แรงกระแทกของคลื่นแรงขึ้น

กัดเซาะหนัก – การกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยบางพื้นที่ยังมีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน โดยมีความรุนแรงมากในพื้นที่ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยขณะนี้ในภาพรวมทั้งประเทศเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ เพียง 145 กิโลเมตร

ขณะที่นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยการศึกษาพบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมที่รุนแรงขึ้นมาจากการพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ บริเวณชายฝั่ง เช่น เขื่อนกั้นปากร่องน้ำ ท่าเรือที่ขวางกระแสน้ำ การสร้างรั้วกำแพงที่ดิน ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่ล่วงล้ำกระบวนการชายฝั่งไปล่วงล้ำกระบวนการสะสมตะกอน รวมถึงกระบวนการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่พบว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง โดยการป้องกันชายฝั่งที่หนึ่ง กลับสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง

“ถ้าคลื่นปะทะกับของแข็ง คลื่นจะสามารถสะท้อนขึ้นไปได้สูงถึง 7 เท่า แล้วยังเลี้ยวเบนไปด้านข้าง ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดแนวกำแพงกั้นคลื่น พื้นที่ถัดไปจะเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงมากขึ้น น้ำหนักของน้ำที่พุ่งตัวขึ้นไปแล้วทิ้งตัวลงมาจะพาทรายออกไปมากกว่าปกติ ทำให้ทรายไม่สะสมและทรายหายไปเรื่อย ๆ” นายศักดิ์อนันต์กล่าว

ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ที่ปรึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งวันนี้พร้อมเป็นจุดศูนย์กลางการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 ที่จะใช้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เสียดายเวลา เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาโดยหน่วยงานอื่น ๆ ที่ใช้ความเข้าใจชุดเก่าในการใช้แนวหินถม ซึ่งพื้นที่ที่ใช้หินถมกว่า 500 กม.นั้น ก็เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดทำต้องดูแลต่อไป ส่วนพื้นที่อีก 145 กม.ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอาจจะต้องพิจารณาวิธีการที่เหมาะกับพื้นที่ และไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยใช้เวทีของจังหวัดในการสำรวจพื้นที่ และรับฟังความเห็นประชาชนเพิ่มเติม หากต้องมีการจัดการผังเมือง เวนคืนที่ดิน หรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง เพื่อบริหารพื้นที่ในการแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่ง แล้วค่อยนำเสนอกับส่วนกลาง