ม.วลัยลักษณ์ เปิด “รพ.สัตว์เล็ก” ดีเดย์ปลายมี.ค. นี้

ภาพจาก pixabay.com

ม.วลัยลักษณ์ มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ ตั้งวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์-สัตวแพทยศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ หวังผลิตบุคคลากรป้อนตลาดไทยเทศ พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก เริ่มให้บริการปลายมีนาคมนี้

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น ซึ่งได้นำมาตรฐาน UKPSF จากประเทศอังกฤษมาใช้ในการเรียนการสอน แบบระบบ Smart Classroom มีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีมาตรฐานสากล พร้อมให้ความสำคัญต่อการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพรองรับต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพในครั้งแรก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ส่วนหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพต้องผ่านการสอบประมวลความรู้ EXIT-EXAM

ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ และวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานนามวิทยาลัยดังกล่าว

“วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี เพื่อผลิตบัณฑิตให้ทำงานในประเทศและดูแลผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมทั้งการทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเทศแถบอาเซียน สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกด้านสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุก็หันมาให้ความสนใจการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงามากขึ้น ฉะนั้นการเปิดหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารีและการเปิดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก ถือเป็นกลไกในการยกระดับการศึกษาของสัตวแพทย์สู่สากล” ดร.สมบัติกล่าว

ด้านศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสัตว์เล็กวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี จะเปิดในวันที่ 29 มีนาคม 2561 และจะเริ่มให้บริการรักษาสัตว์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรีในช่วงงานวลัยลักษณ์เดย์ 23-29 มีนาคมนี้ โดยโรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้จะเป็นกลไกในการยกระดับการศึกษาสัตวแพทย์สู่สากล ในมาตรฐานระดับโลก และเป็นการสนองนโยบายของประเทศในเรื่องสุขภาพของคน สุขภาพของสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภาพรวม (one health) สามารถต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้


ขณะเดียวกันผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.พีรศักดิ์ สุทธิโยธิน รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี เปิดเผยว่า หลักสูตรสัตวแพทย์ศาสตร์นานาชาติเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีการขอการรับรองจากสัตวแพทยสภา และมีเป้าหมายที่จะไปขอการรับรองจากต่างประเทศ ด้วยการส่งนักศึกษาไปฝึกงานทั้งในและต่างประเทศ นักศึกษาจะได้เรียนหลักสูตรทางวิชาการทฤษฎีหลักตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 หลังจากนั้นในปีที่ 5 จะเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในศาสตร์ตามชนิดของสัตว์ ส่วนปีที่ 6 จะเป็นการเรียนรู้เฉพาะทางเพิ่มเติมตามความประสงค์ของผู้เรียน