คุยกับ “ณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าฯชัยภูมิ เดินหน้ายุทธศาสตร์ เมืองต้นน้ำสร้างผืนป่าสู่ท่องเที่ยว

“ชัยภูมิ” เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการเกษตร และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลาย ขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรประมาณ 1,138,252 คน

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ถึงทิศทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับจากเดิมที่ชัยภูมิเป็นเมืองผ่านให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ

Q : แนวทางการพัฒนาศักยภาพจังหวัด

ที่ผ่านมา แม้ว่าชัยภูมิจะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่โดดเด่น แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของน้ำ ป่าไม้ และอาชีพของประชากร ซึ่งจากนี้ไปจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

จริง ๆ แล้ว ตามภูมิศาสตร์ ชัยภูมิเป็นเมืองต้นน้ำของแม่น้ำชีที่ยาวที่สุดในภาคอีสาน ทุกฤดูกาลจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ทั้งฤดูฝนมักจะเกิดน้ำท่วม ฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาน้ำแห้ง ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังใน 3 ลุ่มน้ำ

ที่สำคัญคือ น้ำพรม-เชิญ ลุ่มน้ำลำปะทาว และลุ่มน้ำชี ในปี 2561 นี้นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันได้เริ่มทำฝายชะลอน้ำตัดลำห้วยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนเรื่องป่า ได้มีการฟื้นฟูพื้นที่ปลูกป่า ในโครงการ “ป่ารักน้ำโล่ใหญ่ชัยภูมิ” ที่เป็นภูเขาเนื้อที่ 1.3 หมื่นไร่ ซึ่งแต่ก่อนเป็นพื้นที่สัมปทาน มีการรุกล้ำเข้าไปอยู่อาศัยจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ด้วยการปลูกต้นไม้ในลักษณะย้อมสีภูเขา เช่น การปลูกต้นราชพฤกษ์ ต้นอินทนิล ต้นดอกจาน

ตอนนี้พื้นที่ป่าในจังหวัดมีอยู่ประมาณ 31% รัฐบาลต้องการให้สร้างผืนป่าให้ได้ 40% หากเราสามารถทำได้ ในอีก 20 ปีข้างหน้าภูเขากว่า 1.3 หมื่นไร่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ด้วยระดับความสูงจากน้ำทะเล 700-800 เมตร อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ตั้งใจว่าในปีนี้จะปลูกป่าให้ได้ 7 พันไร่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในปีนี้

สำหรับด้านการพัฒนาอาชีพ ประชาชนในจังหวัดกว่า 60% อยู่ในภาคเกษตรกร พืชเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว อ้อย มัน ยางพารา แต่ก็ยังมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามการลงทะเบียนกว่า 2.7 แสนคน หรือ 20% ประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งจังหวัด รายได้เฉลี่ยในจังหวัด 68,619 บาท/คน/ปี และคาดว่าในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในด้านการเกษตร สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และพืชเศรษฐกิจในแต่ลำอำเภอ เช่น อำเภอภัคดีชุมพล มีชื่อเสียงในเรื่องมะขามพันธุ์ศรีภักดี โดยชาวสวนร่วมกันทำห้องเย็นไว้เก็บผลผลิตตลอดทั้งปี เพื่อขายให้ล้งจีนที่มารับซื้อวันละกว่า 18 ตัน

นอกจากนี้ยังมีส้มโออำเภอบ้านแท่น มะม่วงและกล้วยหอมจากอำเภอหนองบัวแดง สามารถเก็บผลผลิตส่งออกไปยังตลาดประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงอุตสาหกรรมเหมืองโพแทช อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะสร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด

Q : ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเป็นอย่างไร

ปัจจุบันการท่องเที่ยวในจังหวัดชัยภูมิยังไม่ได้รับการโปรโมตมากนัก แม้จะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตน อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อุทยานแห่งชาติไทรทอง ทุ่งดอกกระเจียว เขื่อนจุฬาภรณ์ ตัวเลขในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นคนไทย 747,193 คน ต่างประเทศ 8,655 คน และนักทัศนาจรที่แวะเวียนมาแบบไปเช้าเย็นกลับ 753,066 คน รายได้รวม 1,639 ล้านบาท อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 11.71% ในปี 2560-2561 คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจการเที่ยวในเชิงธรรมชาติมากขึ้น

โดยจังหวัดได้เตรียมทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้มากขึ้น ด้วยการเตรียมคน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงที่พักและบริการ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มากขึ้น เช่น บึงละหานในอำเภอจัตุรัส เนื้อที่กว่า 18,181 ไร่ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวในจังหวัดได้ตลอดทั้งปี ชูเอกลักษณ์ในการท่องเที่ยววิถีชีวิตคนอีสานแท้ กับประเพณีที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน พร้อมอาหารขึ้นชื่อ หม่ำหมู เนื้อ ทอดมัน 3 จ. จากปลากรายในบึงละหานอำเภอจัตุรัส

Q : วางเป้าหมายในอนาคตแบบไหน

ปัจจุบันกำลังวิเคราะห์ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในจังหวัด และจากข้อมูลพบว่าเกิดปัญหาครอบครัวแหว่งกลางค่อนข้างมาก โดยมีผู้ใหญ่อยู่กับเด็ก ขาดพื้นฐานการดำรงชีพและการดูแลผู้สูงวัย ส่วนหนุ่มสาวกลับออกไปทำงานในจังหวัดอื่น ซึ่งนอกจากจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัด ยังมีความร่วมมือกับกลุ่มจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ร่วมทำโครงการปศุสัตว์ เลี้ยงโค ส่งเสริมการทำหม่อนไหมที่เป็นอาชีพโบราณของบ้านเป้า ที่จะสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนคนชัยภูมิให้ดีขึ้น

หากสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงได้ คนวัยแรงงานก็จะไม่ออกไปทำงานที่อื่น เป้าหมายที่สุดคือการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น เราจะไม่พัฒนาให้บ้านเมืองใหญ่โตถ้าความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเรายังอยู่ลำบาก

“หน้าที่ของผมคือการแปลงนโยบายของรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ เหมาะสมกับประชาชน คนของเราส่วนใหญ่มีรายได้น้อย เรายังมีปัญหาเรื่องสังคม อาชีพ น้ำ ป่า ถ้าเราทำได้โดยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาให้ และยังคงไว้ให้เป็นเมืองแห่งความสุขในอันดับที่ 3 ของประเทศที่ไม่หวือหวา ประชาชนอยู่แบบพอเพียง”