ธรรมนูญ “เกาะหมาก” เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ขึ้นชื่อว่า “ตราด” ย่อมการันตีถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทางทะเลที่เลื่องชื่ออันดับต้น ๆ ของประเทศนั่นเพราะตราดมีทั้งทะเล หาดทราย หมูเกาะ อุทยานแห่งชาติ น้ำตก ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้เลือกไปสัมผัส

และหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อนั้นต้องมีชื่อของ “เกาะหมาก” รวมอยู่ด้วย ให้เห็นภาพง่าย ๆ เกาะหมาก ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร มีพื้นที่ 9,000 ไร่ มีรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก มีความยาวชายหาด 27 กม.

ด้วยพื้นฐานที่ “เกาะหมาก” ที่มีความสวยงาม สงบเงียบ ชาวเกาะหมากเป็นคนรักสงบ รักษ์ธรรมชาติ และถิ่นฐานบ้านเกิด มีชุมชนเข้มแข็ง แน่นอนว่า อาชีพหลักที่ทำรายได้ให้เกาะหมาก คือ การท่องเที่ยว เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา แม้เกาะหมากจะมีรีสอร์ตเพียง 36 แห่ง มีห้องพักรวมประมาณ 600 ห้อง

มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวปีละ 40,000 คน แต่เกาะหมากก็ทำเงินได้มากกว่า 235 ล้านบาท นอกจากชาวไทยแล้วยังมีชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรป สแกนดิเนเวีย ที่มีรายได้สูง มาเยือนเกาะแห่งนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กระแสการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ชุมชนชาวเกาะหมากเกรงว่าการพัฒนาที่มากเกินความพอดีอาจจะวกกลับมาทำลายวิถีชีวิตเดิม ๆ ทำลายอัตลักษณ์การท่องเที่ยวของเกาะหมาก ชุมชน หลายภาคส่วนจึงระดมความคิดเห็นจัดทำธรรมมูญเกาะหมากขึ้น เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะหมากในอนาคตให้ชัดเจน

“สุทธารักษ์ สุนทรวิภาต” รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง รักษาการผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2560) เกาะหมากได้มีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon destination) ต้นแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. และความสำเร็จที่ได้มีการถอดบทเรียนเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาที่อื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา อพท.ยังได้เสนอความสำเร็จในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ GSTC Emerging Destination ที่จัดขึ้นโดยสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ณ เมืองยอร์คจาการ์ตาร์อินโดนีเซีย ซึ่ง GSTC ยกให้ เกาะหมาก เป็น good practices for destination management ทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงบริษัทนำเที่ยวระดับโลกให้ความสนใจและสอบถามข้อมูลเพื่อพัฒนาโปรแกรมนำเที่ยวบนเกาะหมาก

“ปีที่ผ่านมา อพท.ได้เริ่มมีการสนับสนุนการจัดทำธรรมนูญเกาะหมากเพื่อประกาศเป็นข้อตกลงกับนักท่องเที่ยว มีประชุมร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองท้องถิ่น ผ่านเวทีประชาคมของชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานในพื้นที่ ถึง 3 ครั้ง และคาดว่าจะทำประชาสัมพันธ์ได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ และเกาะหมากน่าจะเป็นพื้นที่ที่ อพท.เข้ามาสนับสนุนและมีธรรมนูญของท้องถิ่นขึ้นมาเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากเชียงคาน จังหวัดเลย”

ขณะที่ “ธานินทร์ สุทธิธนกุล” รองประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวว่า ย้อนกลับไปปี 2550 เกาะหมากมีนายทุนจากพัทยาพยายามที่จะมาลงทุนแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน เช่น

บาร์เบียร์ คาราโอเกะ และกิจกรรม เจ็ตสกี บานาน่าโบ๊ต ร่มบิน รวมทั้งรถเอทีวี แต่ อบต.เกาะหมากไม่เห็นด้วย รวมทั้งชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้าน ทำให้นายทุนเหล่านั้นต้องยอมถอยออกไป ต่อมาเมื่อปี 2555 เริ่มมีการต่อต้านการนำเจ็ตสกีเข้ามาในเกาะหมาก และนายจักรพรรดิ ตะเวทิกุล นายก อบต.เกาะหมากในขณะนั้นจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการยกเลิกกิจการ

“จากเหตุการณ์ในอดีต เมื่อ อพท.สนับสนุนให้มีการจัดทำธรรมนูญเกาะหมากขึ้นมาประกาศใช้ เราจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการของชาวเกาะหมาก ที่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็น low carbon destination อย่างยั่งยืน”

“ธนินทร์” ยังย้ำด้วยว่า “ธรรมนูญเกาะหมากเราจัดทำไว้รองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต ใน 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะมีรีสอร์ตเพิ่มขึ้นมาอีก เกาะหมากไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง และพยายามจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เกาะหมากต้องเป็นที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ รักความสงบ เงียบ ซึ่งปี 2560 ที่ผ่านมาเกาะหมากมีรีสอร์ต 40 แห่ง ห้องพัก 700 ห้อง รับนักท่องเที่ยวได้วันละ 1,400 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ 50% เจ้าของรีสอร์ตเป็นคนท้องถิ่น
แต่อนาคตอาจมีนักลงทุนรายใหญ่ ๆ เข้ามา และอาจทำให้การท่องเที่ยวของเกาะหมากเปลี่ยนไป”

ทั้งนี้ ร่างธรรมนูญเกาะหมากมีอยู่ 8 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ 1.ไม่สนับสนุนให้มีเรือเฟอร์รี่ที่นำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก

2.รถจักรยานยนต์สำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่า ไม่เกินร้อยละ… (ยังไม่มีข้อมูลระบุไว้ชัดเจน) ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก 3.ไม่สนับสนุนให้ใช้วัสดุที่ทำจากโฟมหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษเพื่อใส่อาหาร 4.ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ลงในที่สาธารณะและแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด 5.ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารพิษตกค้างสูง 6.ห้ามส่งเสียงดังหรือกระทำการอันเป็นการรบกวนหรือเป็นการเดือดร้อน โดยเฉพาะหลังเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 07.00 น.

7.ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเลที่ใช้เครื่องยนต์ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน และ 8.ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่ายสารเสพติดที่ผิดกฎหมายทุกชนิดในพื้นที่

“ธรรมนูญเกาะหมาก” อีกกิจกรรมของ อพท.ที่สนับสนุนให้ชาวเกาะหมากได้ร่วมคิด ได้ร่วมกันสร้างและประกาศใช้ร่วมกัน โดยมีความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน….เกาะหมากโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น

นี่คือ ต้นแบบของการท่องเที่ยวสีเขียว (green city) ตามนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดตราด