ส่อง “โรบอต” โรงงานซันสวีท เชียงใหม่ “หุ่นยนต์” ปั๊มข้าวโพดหวาน 2 พันล้าน

จากอาชีพพ่อค้าเร่เมื่อปี 2527 เช่ารถไปอำเภอแม่ขะจาน จังหวัดเชียงราย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลาย ๆ ที่ในภาคเหนือ เพื่อรับซื้อผัก-ผลไม้ ทั้งลำไย ลิ้นจี่ มะเขือเทศ ผักกาดเขียวปลี และพริก ส่งไปขายให้โรงงานในกรุงเทพมหานคร เป็นจุดเริ่มต้นของ “องอาจ กิตติคุณชัย” ที่ทำให้วันนี้กลายเป็นเจ้าของโรงงาo “ซันสวีท” (SUN SWEET) ผลิตข้าวโพดหวานส่งออกรายใหญ่ Top 5 ของประเทศ และกำลังจะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในเร็ว ๆ นี้

ก้าวต่อไปของซันสวีทจะมีทิศทางอย่างไร “องอาจ กิตติคุณชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2529 เริ่มขยับขยายกิจการจากพ่อค้าเร่ที่ซื้อมาขายไป หันมาเป็นผู้รับจ้างผลิตทำผักผลไม้บรรจุกระป๋องทั้งลำไยและมะเขือเทศ โดยเช่าโรงงานตึกแถวย่านช้างเผือก เชียงใหม่

จากนั้นย้ายไปทำโรงงานที่จังหวัดลำปาง มีไลน์การผลิตเยอะขึ้น อาทิ ลำไย ลิ้นจี่ ข้าวโพดฝักอ่อน หน่อไม้ เงาะ และต่อมาปี 2530 ได้ย้ายโรงงานมาตั้งที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานซันสวีทในปัจจุบัน ทำโรงงานผักและผลไม้กระป๋อง วัตถุดิบหลักคือ มะเขือเทศ ลิ้นจี่ ลำไย และขิง

ในยุคนั้นยังคงเป็นผู้รับจ้างผลิต มีคนงานเพียง 20 คน ไม่มีแบรนด์ ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีเทคโนโลยี ใช้แรงงานคนล้วน ๆ จนมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นช่วงแห่งการฝืดเคือง ทำได้เพียงประคับประคองกิจการ และหาทางฝ่าวิกฤต

องอาจบอกว่า ในช่วงของการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมีเงินทุนน้อย ทำให้ต้องเลือกว่าจะทำพืชชนิดไหนที่คุ้มค่าที่สุด ลำไย ลิ้นจี่ เป็นพืชที่ต้องใช้เงินทุนมากหลัก 10 ล้านบาท มะเขือเทศเป็นพืชฤดูกาล สับปะรดมีแหล่งปลูกทางภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่คุ้มในเรื่องการขนส่ง ขณะที่ข้าวโพดหวานราคาต่อหน่วยต่ำ ปลูกง่าย ใช้ทุนน้อย ภายใน 75 วันก็ออกผลผลิต ทำได้ตลอดทั้งปี และยังไม่ค่อยมีคนปลูก ไม่มีใครทำบรรจุกระป๋อง แต่ขายได้ทั่วโลก

ปี 2550-2555 เติบโตก้าวกระโดด

ปี 2540 จึงเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส เขาตัดสินใจทำข้าวโพดหวานแบรนด์ “KC” ผลิตภัณฑ์แรกคือเมล็ดข้าวโพดหวานในน้ำเกลือบรรจุกระป๋อง ส่งออกไปจีนเป็นประเทศแรก แต่การตอบรับของตลาดไม่ดีนัก เพราะเมล็ดข้าวโพดแข็ง ด้วยหลายปัจจัยที่ทำให้สินค้าตัวแรกที่ออกสู่ตลาดยังไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องใช้เวลาพัฒนาการผลิตและบริหารจัดการองค์กรภายในถึง 5 ปี สถานการณ์จึงเริ่มดีขึ้น

องอาจบอกว่า ปี 2550-2555 เป็นช่วงการเติบโตแบบก้าวกระโดด แบรนด์ KC เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น และช่วงปี 2555-2560 เป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่ซันสวีทมุ่งนำองค์ความรู้มาใช้ทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ไอที

ทุ่มทุนใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน

ล่าสุดปีนี้ยังได้ลงทุนราว 200-300 ล้านบาท นำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัยทั้งชุดฆ่าเชื้อ ชุดแพ็กกิ้ง และชุดสุญญากาศ ซึ่งจะทำให้ระบบการผลิตมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งได้นำเข้าหุ่นยนต์หรือโรบอต 2 ตัว ราคาตัวละ 3-5 ล้านบาทจากประเทศเยอรมนี เพื่อช่วยยกของและเรียงสินค้าภายในโรงงาน ซึ่งช่วยให้ระบบการทำงานมีความเสถียร ลดต้นทุนการใช้แรงงานได้ถึง 50% แต่ไม่ได้เลิกจ้างแรงงานเหล่านี้ ได้ปรับเปลี่ยนไปทำงานในส่วนอื่นแทน เนื่องจากบริษัทกำลังขยายงานเพิ่มขึ้นหลายส่วน ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมดราว 900 คน

ปีนี้ลุยปั๊มยอดขาย 2,000 ล้าน

สำหรับไลน์การผลิตแบ่งออกเป็นข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องสัดส่วน 70% ข้าวโพดหวานแช่แข็ง 20% และข้าวโพดหวานในสุญญากาศ 10% โดยส่งออก 90% และตลาดในประเทศ 10% ปี 2559 มียอดขายอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท และในปี 2560 ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท โดยปีนี้จะเริ่มปรับสัดส่วนตลาดส่งออกเป็น 70% และในประเทศ 30%

องอาจกล่าวว่า การปรับสัดส่วนตลาดไม่ได้ทำให้การส่งออกมียอดลดลง แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากฐานตลาดส่งออกทั้งหมดกว่า 70 ประเทศ จำนวนลูกค้ามากกว่า 300 ราย โดยเอเชียเป็นตลาดอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการส่งออก 50% (เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน) รองลงมาคือ ตลาดยุโรป และตะวันออกกลาง สำหรับการเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศเป็น 30% ก็เพื่อขยายช่องทางการขายไปยังร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรดให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าหลายตัว อาทิ ข้าวโพดปิ้ง ข้าวโพดครีม ข้าวโพดซุป เมล็ดข้าวโพดแช่แข็ง ข้าวโพดฝักแช่แข็ง มันแดง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำออกจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ถั่วในซอสมะเขือเทศ ได้เริ่มส่งออกไปญี่ปุ่นแล้ว ตลาดตอบรับค่อนข้างดี และตั้งเป้าที่จะส่งออกเป็นหลักพันตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี และในปีนี้เตรียมขยายตลาดไปยังตะวันออกกลางด้วย

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานของซันสวีท เป็นการทำเกษตรแบบพันธสัญญากับเกษตรกร (Contract Farming) ในภาคเหนือ พื้นที่หลักอยู่ที่เชียงใหม่ (อำเภอแม่แตง เชียงดาว ฝาง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า สันกำแพง) เชียงราย (อำเภอแม่สาย เชียงแสน และอำเภอเมืองเชียงราย) นอกจากนี้คือ แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และนครราชสีมา พื้นที่ปลูกทั้งหมด 50,000-100,000 ไร่ต่อปี มีผลผลิตเข้าสู่โรงงาน 100,000-150,000 ตัน/ปี หรือเฉลี่ยวันละ 300-500 ตัน

ชู KC Smart Farm ทุ่งปี๊

นอกจากนั้นบริษัทได้เริ่มทำระบบแปลงเพาะปลูกข้าวโพดหวานแบบแม่นยำในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ KC Farm บนพื้นที่ 25 ไร่ ในตำบลทุ่งปี๊ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งงานวิชาการด้านการปลูกข้าวโพดหวาน และเป็นฟาร์มการทดลองพันธุ์และปัจจัยการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรกว่า 20,000 รายที่จะเข้ามาเรียนรู้การทำระบบฟาร์มอีกด้วย

นำองค์กรเข้าตลาดหุ้นเสริมแกร่ง

แม่ทัพใหญ่ของซันสวีทบอกว่า ราวปลายปี 2560 หรืออย่างช้าต้นปี 2561 จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนได้

นอกจากนั้นภายใน 5 ปีนี้ แผนของบริษัทจะขยายไลน์ในภาคการเกษตรให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารสุขภาพเป็นสิ่งที่ทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญ ดังนั้น โอกาสของข้าวโพดหวานยังมีสูงมาก เพราะความต้องการด้านอาหารของโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ซันสวีทมุ่งพัฒนาและสร้างแบรนด์ KC ให้เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ในโหมดแห่งยุคนวัตกรรม ที่มีหุ่นยนต์เข้ามาเสริมทัพการผลิตข้าวโพดหวานตอกย้ำทำคุณภาพสินค้าให้มีความเสถียรและบริการที่น่าเชื่อถือในตลาดโลก