ผู้ว่าฯจันทบุรี ดัน แก้ภัยแล้ง เร่ง กนช.สร้างอ่างวังโตนด

มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

จันทบุรี ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดกว่าแสนล้านบาท รายได้จากผลไม้เป็นหลัก เช่น ทุเรียน มังคุด รวมถึงมีธุรกิจค้าพลอย มูลค่าการค้าชายแดนกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาที่ต้องเผชิญและต้องการแก้ไข “มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

Q : การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาว

จังหวัดจันทบุรี มีรายได้หลักมาจากผลผลิตทางภาคเกษตรกรรมสูงสุดของประเทศไทย ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูที่ผลไม้ออกมา ซึ่งปัจจุบันภาคตะวันออกมีผลผลิตทุเรียน ทั้งหมด 700,000 ตัน อยู่ที่ จ.จันทบุรี 500,000 ตัน หากบางปีประสบปัญหาฝนตกทิ้งช่วง หรือเจอภัยแล้งอย่างเช่นปีนี้ จะทำให้ภาคการเกษตรลำบาก

ตอนนี้ฝนมาแล้ว แต่ได้มีการหารือผลักดันร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อช่วยกันสำรวจต้นทุนน้ำและเสนอแผนการแก้ปัญหา เพื่อรองรับปัญหาในระยะยาว ซึ่งขณะนี้มี 1 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ โครงการวางท่อระบายน้ำ ดึงน้ำที่จะปล่อยลงทะเลประมาณ 80% กลับมาใช้ในภาคเกษตรกรรมได้

Q : ความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นแหล่งน้ำที่เหมาะสมที่สุดที่จะไปช่วยเกษตรกรใน จ.จันทบุรี รวมถึงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องยอมรับว่าทั้งภาครัฐและเอกชนก็พยายามผลักดันโครงการกันเต็มที่

ตอนนี้ที่ทราบโครงการอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ คิดว่าคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อาจจะต้องการความรอบคอบจึงมีการศึกษากันนาน ก็อยากให้ทางคณะกรรมการเร่งสรุปผลเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป

ที่ผ่านมาบางพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี มีปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตร ต้องมีการซื้อขายน้ำกันตลอด เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด จากการฟังข้อมูลจากเกษตรกรและเกษตรจังหวัดรายงานมาต้องยอมรับว่า ทุเรียน เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีรายได้ดี คนให้ความสนใจและหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น

ทำให้ปริมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ซึ่งทุเรียนที่ใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างเยอะ ต้องวางแผนหาแหล่งน้ำให้ทางภาคเกษตรกรรมไว้ เพราะพืชเกษตร 10 ไร่ ควรมีบ่อน้ำ 1 ไร่

Q : หลายจังหวัดขยายการปลูกทุเรียน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน แผนรับมือการล้นตลาด

การเตรียมรับมือทุเรียนล้นตลาดในอนาคต ข้อดี ข้อเสียทุกคนรับทราบ ทางจังหวัดก็ทำได้เพียงแนะนำความเหมาะสมในการปลูก และก็มีการเตือนกันบ้าง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องช่วยกัน ส่วนเรื่องการตลาด ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งหาตลาดใหม่ นอกจากประเทศจีน ควบคู่กับการส่งเสริมตลาดภายในประเทศ

Q : การแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน ด้อยคุณภาพ

ปัจจุบันราคาผลไม้ยังไปได้ดี เป็นไปตามเกรด ตามไซซ์ และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด จึงมีการจัดทำโครงการจันท์การันตี (Chan Guarantee) ให้กับร้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับรองการขายทุเรียนที่ดีมีคุณภาพ

นอกจากการตรวจสอบที่เข้มงวดตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ และผู้บริโภค โดยการแสดงความรับผิดชอบด้วยการขายของดี มีคุณภาพ หรือหากลูกค้าซื้อของที่ด้อยคุณภาพไป ผู้ขายยินดีเปลี่ยนสินค้าหรือคืนเงินแก่ลูกค้า

ที่ผ่านนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วเจอทุเรียนอ่อนเยอะมาก ทางจังหวัดจึงร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดทำโครงการเพื่อรับรองมาตรฐานของทุเรียน ซึ่งได้มีการเชิญผู้ประกอบการ มาลงทะเบียน และได้พิจารณาอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการค้าและผลิตภัณฑ์ “จันท์การันตี” ระยะแรก จำนวน 68 ราย

แบ่งเป็น 1.ผู้ประกอบการทั่วไป จำนวน 31 ราย 2.ผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดภายใต้การกำกับ ดูแล ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงไม่จำหน่ายทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพไว้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 37 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการในตลาดผลไม้เนินสูงภายใต้เทศบาลตำบลเนินสูง 23 ราย ตลาดสดเทศบาลเมืองขลุงภายใต้เทศบาลเมืองขลุง 10 ราย และตลาดปากแซงภายใต้เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ 4 ราย

Q : มีการตรวจสอบล้งจีนจำนวนมากในจังหวัดหรือไม่ ทำให้ตลาดค้าผลไม้ตกอยู่ในกำมือของล้งจีน

ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาและแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์พยายามนำเอาผลไม้ไปบุกเบิกทางฝั่งสหรัฐ ส่วนกระทรวงเกษตรก็มีนโยบายการแปรรูปผลผลิต

รวมถึงโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ทำห้องเย็นเพื่อเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง

ทุเรียน

Q : แผนการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียน เพื่อสร้างความโดดเด่นให้จังหวัดจันทบุรี

ด้านแนวทางการวิจัยสายพันธุ์ทุเรียนและออกกฎระเบียบทุเรียนด้อยคุณภาพ ผมมองว่าสินค้าที่สามารถอยู่ได้ต้องมีคุณภาพ ซึ่งชาวสวนก็รับทราบแล้วว่าหากทุเรียนไม่ได้คุณภาพก็ไม่ได้ราคา ขณะที่โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ถ้าของไม่ได้คุณภาพ เขาก็ไม่รับซื้อ สุดท้ายแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่ได้คุณภาพ ถ้าหากสามารถควบคุมได้ก็เชื่อมั่นว่าผลผลิตผลไม้ยังไปได้อีกไกล

ส่วนโครงการ “มหานครผลไม้ สู่ ฮับผลไม้โลก” ในภาคตะวันออก ก็พยายามสานต่อมาเรื่อย ๆ ซึ่งปี 2566 ผลผลิตก็ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะทุเรียน มีการส่งออกไปแล้วประมาณ 20,000 กว่าเที่ยว มูลค่า 3,000,000 บาทต่อเที่ยว

Q : การพัฒนาการสร้างรายได้ตลาดอัญมณีจันท์

ด้านตลาดอัญมณี ทางผู้ค้าพลอยก็อยากให้มีการส่งเสริมการจัดงานมหกรรมอัญมณีที่ จ.จันทบุรี ปีละ 1 ครั้งก็พยายามผลักดันกันอยู่ นอกจากนี้ทางภาคเอกชนก็อยากให้มีการเปิดประมูลพลอยก้อนหรือพลอยดิบ เพื่อสร้างมูลค่ารายได้เพิ่ม

ซึ่งถ้าหากมีโอกาสได้พูดคุยกับทางรัฐบาลทางจังหวัดก็พยายามผลักดัน ตอนนี้ตลาดอัญมณีอยู่ในพื้นที่จังหวัดประมาณ 70%

Q : การเติบโตของตลาดค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

สำหรับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาถือว่าไปได้ดี เนื่องจากมีด่านถาวร 2 จุด ด่านผ่อนปรน 3 จุด โดยเฉพาะด่านบ้านแหลมกับด่านบ้านผักกาด มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกมูลค่าหลายหมื่นล้านต่อปี ซึ่งทางจังหวัดจะเน้นพัฒนาโครงการพื้นฐาน เช่น เส้นทางจากชายแดนถึงตัวจังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันเป็น 4 เลน

ขณะเดียวกันด่านผ่อนปรนบ้านซับตารี ระยะทาง 5.8 กิโลเมตร ถนนยังเป็น 2 เลน และยังขรุขระ ทางจังหวัดก็ได้ร้องขอกับทางหน่วยงานภาครัฐให้มีการพิจารณา หากโครงการสำเร็จก็เชื่อว่าจะเป็นด่านถาวรได้ในอนาคต ถ้าโครงสร้างพื้นฐานพร้อมก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะไปรอด

นอกจากนี้อยากผลักดันเรื่องโลจิสติกส์ โดยเฉพาะรถไฟรางคู่หรือรถไฟความเร็วสูง อยากให้มาถึงจังหวัดจันทบุรี เพราะจะช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งผลผลิตต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการเดินทางหากใช้ระยะเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง เชื่อว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม น่าจะได้รับความนิยมและไปไกลกว่านี้