พื้นที่เสี่ยงเตรียมรับมือน้ำไหลหลากท่วมฉับพลัน 7-11 มิถุนายนนี้

รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ จากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2566 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 7-11 มิถุนายน 2566 โดยมีผลกระทบกับภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ หลายจังหวัดออกประกาศให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 7-11 มิถุนายน 2566

โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ได้แก่

ภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว แม่แจ่ม แม่วาง กัลยาณิวัฒนา จอมทอง สะเมิง อมก๋อย และฮอด) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย) จังหวัดลำพูน (อำเภอทุ่งหัวช้าง แม่ทา บ้านโฮ่ง และป่าซาง) จังหวัดตาก (อำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง) จังหวัดแพร่ (อำเภอเด่นชัย) จังหวัดพิจิตร (อำเภอบางมูลนาก) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอฟากท่า) จังหวัดนครสวรรค์ (อำเภอบรรพตพิสัย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอวิเชียรบุรี) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอหนองขาหย่าง)

ภาคตะวันออก

จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดสระแก้ว (อำเภอวัฒนานคร) จังหวัดชลบุรี (อำเภอพานทอง) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง บ้านค่าย และแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ และขลุง) จังหวัดตราด (อำเภอเกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ และคลองใหญ่)

ภาคใต้

จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต) จังหวัดกระบี่ (อำเภอ คลองท่อม เกาะลันตา เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอละงู) จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน)

สำหรับหลายจังหวัดในเขตพื้นที่เสี่ยงก็ได้ออกประกาศให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ดังนี้

กาญจนบุรี

นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 13 (173/2566) ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เวลา 15.00 น. แจ้งว่าระหว่างวันที่ 7-11 มิถุนายน 2566 จังหวัดกาญจนบุรีต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามข้อมูล สภาวะอากาศ ปริมาณฝน และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนตกสะสม โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงกำลังเจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อมบรรเทาภัย ปฏิบัติงานอำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

หากพบเห็นหรือได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติสามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยดำเนินการเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DD PM ตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ทราบทันทีเมื่อเกิดเหตุที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-3451-5998 โทรสาร 0-3461-6795

พะเยา

นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 13 (1473/2566) ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2566 แจ้งว่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 7-11 มิถุนายน 2566 ในพื้นที่ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ จ.น่าน จ.อุตรดิตถ์ จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์

สำหรับจังหวัดพะเยา มีพื้นที่เฝ้าระวัง 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมจังหวัดพะเยา สั่งการให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ข้อมูลสภาวะอากาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับทราบล่วงหน้าหากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่

โดยให้ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา พร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงานและสถานการณ์ในพื้นที่ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยาทราบ

ลำพูน

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จ.ลำพูน คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ทุ่งหัวช้าง อ.แม่ทา อ.บ้านโฮ่ง และป่าซาง ให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งในระยะเวลาดังกล่าว ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชน ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายด้วย

ด้านนายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ในพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้าง แม่ทา บ้านโฮ่ง และป่าซาง ขอแจ้งเตือนให้ให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน

เชียงราย-ระนอง-ตาก

ทั้งนี้ การเฝ้าระวังช่วงวันที่ 7-11 มิถุนายน 2566 ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ประกาศแจ้งเตือนกับประชาชน ยกตัวอย่าง จังหวัดเชียงราย ที่ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก ท่วมขัง ฟ้าฝนกระโชกแรง, จังหวัดระนอง เฝ้าระวัง พื้นที่อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ อำเภอสุขสำราญ ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

จังหวัดตาก นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ก็ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และให้ติดตามสภาพอากาศ และสภาพน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้จัดชุดเฝ้าระวังแจ้งเตือนประจำหมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ด้วย