พบแล้ว 3 จังหวัด ตายเพราะพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรคเตือนให้เฝ้าระวัง

พิษสุนัขบ้า

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 พฤษภาคม 2566 พบผู้เสียชีวิต 3 ราย เหตุเพราะไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค

วันนี้ 14 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า จากการเฝ้าระวังโรคในระบบรายงานเฝ้าระวัง 506 โดยกองระบาดวิทยาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 พฤษภาคม 2566 มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และสุรินทร์

ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ เป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม จะติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว และพบบ้างในโค กระบือ เชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางแผลหรือเยื่อเมือกอ่อน สามารถพบได้ตลอดทั้งปี หากในพื้นที่นั้น ๆ มีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อแล้วไปกัดคน หรือสัตว์ตัวอื่น ๆ จะติดเชื้อต่อกันไป

อาการพิษสุนัขบ้า

สำหรับอาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่แสดงออกในทันทีหลังจากที่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือนหลังได้รับเชื้อ ในบางรายอาจใช้เวลาร่วมปีกว่าที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการ ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของบาดแผล โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก (Richly innervated area) ซึ่งเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทและสมอง

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะแรกเริ่ม จะมีอาการไม่จำเพาะ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ระคายเคืองบริเวณที่ถูกสัตว์กัดเป็นอย่างมาก มีอาการเจ็บแปลบคล้ายหนามทิ่มตำ โดยระยะนี้ อาจกินระยะเวลาเฉลี่ย 2-10 วัน

Advertisment

2.ระยะที่มีอาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้จะมีอาการแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

  • ภาวะสมองอักเสบ (Encephalitis) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ กลัวลม กลัวน้ำ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็ง เพ้อ เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ
  • ภาวะอัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรงปวกเปียก (Flaccid paralysis) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อหดตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง

3.ระยะโคม่า หรือระยะสุดท้าย (Coma) ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในระยะนี้จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และมักเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์

Advertisment

ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกกัด

  • ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยให้น้ำไหลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที
  • รักษาบาดแผลโดยการใส่ยาฆ่าเชื้อ
  • กักขังสัตว์ที่กัด/เลีย สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด
  • แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งซากสัตว์สงสัยที่เพิ่งตายตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ
  • ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนหลังสัมผัสโรคที่สถานพยาบาลหลังถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจะฉีดวัคซีนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

  • นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องการโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามจำนวนเข็มที่สัตวแพทย์กำหนดและฉีดซ้ำทุกปี
  • จัดที่อยู่อาศัยที่เป็นกิจจะลักษณะให้สัตว์เลี้ยง ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในกรง หรือในบ้านเวลากลางคืน ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ
  • ไม่สัมผัสสัตว์ป่า หรือปล่อยให้สัตว์เลี้ยงสัมผัสกับสัตว์ป่าหรือสัตว์จรจัด เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะถูกกัด
  • หากพบสัตว์จรจัด ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบทันที
อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาในปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงทีมักเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้น หากมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนและหรือยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุด