สตูล…เมืองอุทยานธรณีโลก บูมท่องเที่ยวเชิงนิเวศเสริม “หลีเป๊ะ”

สตูล นับได้ว่าเป็นจังหวัดริมทะเลใต้สุดอันดามัน และมีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ เกาะหลีเป๊ะ ล่าสุดสตูลเตรียมเฮรับข่าวดี ลุ้นผลยูเนสโกประกาศเป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดการสร้างตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทยแห่งใหม่ รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้ประชาชนในจังหวัดเมืองรองแห่งนี้ ทั้งยังกระจายสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์กหลักเดิม

“จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ขณะนี้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก กำลังพิจารณาการประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก คาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการภายในเดือนเมษายน 2561 นี้ โดยเป็นอุทยานธรณีแห่งแรกในไทย ซึ่งมีหลักฐานทางธรณีวิทยาสำคัญคือ ภูเขาหินโต๊ะหงาย ในบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีอายุกว่า 550 ล้านปี และพบหลักฐานทางธรณีวิทยาด้านรอยเลื่อนทับกันของหินจาก 2 ยุค คือ หินปูนกลุ่มหินทุ่งสูงยุคออร์โดวิเชียน และหินทรายกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน

นอกจากนี้ สตูล ยังมีแลนด์มาร์กสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามหมู่เกาะต่าง ๆ เช่น ปราสาทหินพันยอด อ่าวโต๊ะบ๊ะ เป็นต้น จังหวัดจึงชูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในชื่อ “สตูลจีโอพาร์ค” บนพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง และอำเภอเมือง

ขณะที่ “เจตกร หวันสู” ประธานสภาการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสตูลมีรายได้จากการท่องเที่ยว 8,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งยังน้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับจังหวัดชายทะเลฝั่งอันดามันอื่น ๆ อาทิ ภูเก็ต มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี กระบี่ประมาณ 80,000 ล้านบาท/ปี และพังงาราว 50,000 ล้านบาท/ปี

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดส่วนใหญ่มีจุดหมายหลักอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ โดยจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าเรือปากบารา หรือท่าเรือหลักจำนวน 1,500-2,000 คน/วัน

แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังเกาะหลีเป๊ะ 70% ซึ่งนักท่องเที่ยวอีก 30% เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อศึกษาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่เป็นจุดขายหลัก การได้รับการประกาศให้อุทยานธรณีโลกดังกล่าวจะทำให้กลุ่มนักศึกษา นักวิจัยจากทั่วโลกเดินทางเข้ามามากขึ้น และจะใช้เวลาการพักอาศัยในพื้นที่ยาวนานกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอของสตูลจีโอพาร์ค จะประกอบด้วยพื้นที่ย่อยกว่า 30 แห่ง และแบ่งความรับผิดชอบดูแลหลายหน่วยงาน เช่น เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เขตอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา และเขตพื้นที่การดูแลของชุมชน เป็นต้น

จากนี้ไปแต่ละหน่วยงานจะต้องมีการประสานงานกันเพื่อเสริมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีเข้ามากขึ้น เช่น ถนน และห้องน้ำสาธารณะ บนแนวทางที่ไม่สร้างสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติเกินความจำเป็น และการมีส่วนร่วมกันทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ สภาการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ยังได้เสนอแนะไปสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ให้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และ SMEs ขนาดเล็กในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านการท่องเที่ยวที่มีรากฐานมาจากประชาชนในพื้นที่ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และเรือนำเที่ยวต่าง ๆ

ขณะที่ “แชเรน เพชรเพ็ง” ผู้ขับเรือท่องเที่ยว ประจำวิสาหกิจชุมชนบ่อ 7 ลูก เล่าว่า ระบบของเรือนำเที่ยวในจังหวัดสตูลนั้นถูกจัดการโดยวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งแบ่งตามพื้นที่ โดยวิสาหกิจชุมชนจะจัดหาเรือส่วนกลางไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการรองรับมาตรฐานทั่วไป ทั้งการบรรทุกคน การมีชูชีพประจำเรือบริการเพียงพอต่อผู้ใช้บริการ รวมถึงมีเรือพายพ่วงขนาดเล็กสำหรับนักท่องเที่ยว โดยการวิ่งเรือนั้นจะจัดเป็นคิวในการรับนักท่องเที่ยว รายได้เฉลี่ย 400-500 บาท/ต่อเที่ยว

การได้รับการยกย่องให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” ของสตูลกำลังจะเป็นก้าวใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ทำให้จังหวัดนี้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนและจังหวัดเพิ่มขึ้น