
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ในโอกาสครบรอบ 1 ปี หลังจาก “ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์” เข้ารับตำแหน่งนายกเมืองพัทยา “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ถึงการขับเคลื่อนนโยบายตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
ชงรัฐกระจายอำนาจ
หลังจากเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ผมเข้ามาทำงานครบวาระ 1 ปี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เมืองพัทยาถือเป็นเมืองแห่งโอกาส เป็นเมืองที่มีความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง เพราะมีประชากรที่อยู่ในทะเบียนบ้านเพียง 1.2 แสนคนแต่มีประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานมากกว่า 3 เท่าของประชากรในพื้นที่
- เปิดอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่ ได้ขึ้นทุกคุณวุฒิ “ปวช.ปริญญาตรี-เอก”
- คลังดึงออมสิน ช่วยแก้หนี้นอกระบบ พร้อมปล่อยกู้ 5 หมื่นบาทต่อราย
- ครม.เคาะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10% เริ่มงวดแรกปี 2567
ยังมีคนต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาพักอาศัย ทั้งกลุ่มสูงวัย เกษียณอายุ นักท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ เราต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 18 ล้านคน ฉะนั้นเมืองที่มีพื้นที่เพียง 50 กว่าตารางกิโลเมตร จึงมีปัญหาหลากหลาย
ผมในฐานะนายกเมืองพัทยาที่มาจากการเลือกตั้ง เมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หลายคนเข้าใจว่าอำนาจการบริหารจัดการเมืองพัทยาอยู่ในมือนายกเมืองพัทยา แต่เรากลับไม่ได้อำนาจพิเศษในการบริหารอย่างแท้จริง เมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่ากับเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งเท่านั้น
ยกตัวอย่าง ด้านการจราจรเป็นของตำรวจ พื้นที่สาธารณะเป็นของทางจังหวัด บนพื้นที่ชายหาดและทะเล เป็นอำนาจของกรมเจ้าท่าที่ให้เมืองพัทยาประสานงานดูแลร่วมกันตลอด ไม่มีอำนาจที่สามารถตัดสินใจได้เองอย่างเด็ดขาด เช่น หากต้องใช้พื้นที่สาธารณะต้องเรียนถามผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น แม้ทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกันอย่างดี
ที่สำคัญเมืองพัทยาเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศถึง 300,000 ล้านบาทต่อปี แต่เราได้งบประมาณกลับมาพัฒนาบ้านเมืองพัทยาเพียง 3,000 ล้านบาทเศษ หรือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์กว่าเท่านั้น ความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้
แต่ด้วยกรอบการรวมอำนาจ ทำให้ไม่สามารถเปิดรับคนเข้ามาทำงาน ต้องรอส่วนกลางเปิดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ในขณะที่เราขาดอัตรากำลังคนถึง 100 อัตรา ทำให้การขับเคลื่อนไม่คล่องตัว แม้จะเป็นเมืองพิเศษ แต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งต้องผ่านขั้นตอน ระเบียบหลายหน่วยงาน ทำให้กระบวนการจัดการต่าง ๆ ต้องล่าช้าและขาดความคล่องตัว
ดังนั้น การจะพัฒนาเมืองพัทยาให้เบ็ดเสร็จ รวดเร็ว จึงต้องมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงอยากฝากเรื่องนี้ถึงรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาดูแลข้อจำกัดการกระจายอำนาจนี้ อยากให้แต่ละหน่วยงานมีอำนาจตัดสินใจให้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ เรื่องการจัดสรรงบประมาณ อยากได้งบประมาณของหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาช่วย เพื่อรองรับจำนวนประชากรแฝง และรองรับโรงแรม 2 แสนกว่าห้อง เช่น งบประมาณของการไฟฟ้าที่นำร่องเก็บสายไฟฟ้าลงดิน 9 เส้นทาง 21 กิโลเมตร ทำให้ทิวทัศน์สวยขึ้น สร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้มหาศาล
รุกขับเคลื่อน 4 เป้าหมาย
ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ผมและทีมบริหารได้ขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายที่ตั้งไว้อย่างเต็มกำลัง ภายในระยะเวลา 1 ปี ได้ตั้งไว้ 4 เป้าหมาย 15 นโยบาย ที่ได้นำเสนอไว้
เป้าหมายที่ 1 แก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ การจ้างงาน สำหรับเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจต้องยอมรับว่าดีขึ้นหลังจากเปิดประเทศ เพราะพึ่งพิงรายได้หลักจากการท่องเที่ยว 80-90% โดยภาพรวมจังหวัดชลบุรีมีนักท่องเที่ยว 14.6 ล้านคน
แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 12.8 ล้านคน ชาวต่างชาติ 1.8 ล้านคน ตัวเลขเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ทำรายได้ 1 แสนล้านบาท และทั้งหมดกว่า 80% ในส่วนนี้เป็นของพัทยา ซึ่งมีการจัดงานอีเวนต์หลากหลายเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เทศกาลดนตรี เทศกาลพลุนานาชาติ ฯลฯ
สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มีนาคม) มีตัวเลขกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 5.7 ล้านคน หากสามารถสร้างรายได้เช่นนี้ในทุกไตรมาสจนถึงสิ้นปี 2566 คาดว่าตัวเลขน่าจะกลับไปสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด-19
หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ตลอดปีนักท่องเที่ยวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านคน รายได้ไม่น่าจะต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนที่เข้ามาในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะลงทุนทำร้านอาหาร สถานบันเทิง
เป้าหมายที่ 2 ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพัทยา แก้ปัญหาน้ำท่วม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม มี 12 โครงการ ทั้งสานต่อโครงการตัดทางน้ำ ลดภาระการรับน้ำนอกพื้นที่ แก้ไขโครงข่าย ขยายท่อระบายน้ำในพื้นที่ ขุดลอกคลองธรรมชาติ เพิ่มการระบายน้ำ
รวมถึงขุดลอกท่อระบายน้ำใต้ดินทั้งระบบ ซึ่งทั้งหมดดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 โครงการ และอยู่ระหว่างรองบประมาณ 3 โครงการ
เป้าหมายที่ 3 สานต่อวิสัยทัศน์ “นีโอพัทยา เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” เช่น โครงการระบบสายไฟฟ้าลงดิน walking street, โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา ระยะทาง 2.7 กม. อยู่ระหว่างดำเนินงาน
เป้าหมายที่ 4 พัฒนาเทคโนโลยีและปฏิรูปการศึกษา ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต เช่น โรงเรียนเมืองพัทยา 11 เป็นต้นแบบเรื่องหลักสูตรเฉพาะด้านเตรียมนักเรียนเข้าสู่อาชีพ โรงเรียนผู้สูงวัยเตรียมรับสังคมสูงวัยที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และศูนย์สร้างสุขที่จะเป็นแหล่งรวมกิจกรรมของคนทุกเพศทุกวัยในชุมชน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ชุมชนสีเขียว สวนสาธารณะต่าง ๆ การจัดการขยะที่ดีขึ้น
ผมและคณะจะมุ่งมั่นทำงาน เพื่อให้โครงการและนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้สำเร็จและขยายผลต่อไป
1 ปีหลากปัญหาเร่งแก้
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565-มิถุนายน 2566 มีการเปิด “เพจสายตรงนายกเมืองพัทยา” เพื่อลดช่องว่างรัฐ และประชาชน พร้อมแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ของเมืองพัทยา พบว่าประชาชนมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 698 เรื่อง แก้ไขเร่งด่วนเสร็จสิ้นไป 486 เรื่อง กำลังดำเนินการ 178 เรื่อง
โดยเฉพาะปัญหาการขุดเจาะถนน อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจภาพรวมว่าคนมาอยู่เมืองพัทยาจำนวนมาก มาใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก แต่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับ เช่น ความต้องการใช้น้ำประปาที่มากขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประปาต้องขยายขนาดท่อเดิมใช้มาหลายสิบปี, เรื่องระบบระบายน้ำในเมืองพัทยาเป็นท่อเก่า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 เซนติเมตร
การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จ ต้องมีการขุดถนนเพื่อขยายท่อระบายน้ำให้เป็นท่อขนาด 2 เมตร เพื่อระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วขึ้น, การนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อความสวยงามต้องขุดถนน เหล่านี้ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการก่อสร้างทั้งสิ้น
แต่ต้องยอมรับว่าอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้านั้น ในบางโครงการเมืองพัทยาทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางคอยประสานงานให้กับหน่วยงานหลัก คือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จะมีผู้รับจ้างเข้ามาโดยต้องควบคุม เร่งรัด การทำงานและวางแผนร่วมกัน แต่ในเรื่องของการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)
ซึ่งเป็นระบบการประมูลงานจากส่วนกลาง เป็นข้อดีที่ป้องกันการฮั้วประมูล แต่ในบางโครงการได้ผู้รับเหมาที่เสนอราคาถูกที่สุดมาแล้วทิ้งงาน อย่างโครงการสนามกีฬาฟุตบอล 20,000 ที่นั่ง 15 ปีแล้วยังไม่เสร็จ ต้องไปฟ้องผู้รับเหมารายเก่าและหาผู้รับจ้างรายใหม่
ดังนั้นการคัดเลือกผู้รับเหมาต้องดูคุณภาพกับราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ผู้ที่เสนอราคาถูกที่สุด เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่หน่วยงานท้องถิ่นทั้งประเทศต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่ต้องฝากรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข