ดัน “นครปฐม” ขึ้นแท่นฮับโลจิสติกส์ ปั้นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย เสิร์ฟกรุงเทพ

เศรษฐกิจนครปฐมโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 3% เตรียมเปลี่ยนกลุ่มจังหวัด ขึ้นตรงภาคกลางปริมณฑล พร้อมมุ่งสู่ฮับการค้าการลงทุน-โลจิสติกส์-สุขภาพ-การศึกษา รุกแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยเสิร์ฟเมืองกรุง ดันเกาะลัดอีแท่นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ภาคสภาอุตฯชี้การลงทุนยังติดล็อกผังเมือง เสนอศูนย์กระจายตู้คอนเทนเนอร์ระบบรางเสริมแกร่งภาคตะวันตก

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐมดีขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และท่องเที่ยว โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3% มีปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของจังหวัดนครปฐม คือ ด้านการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงมีการส่งออกกล้วยไม้ปีละประมาณ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งในปี 2561 คาดว่าจีพีพีของจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท/ปี

เสิร์ฟอาหารปลอดภัยเข้ากรุง

สำหรับแนวการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด หลังจากคณะกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดได้เปลี่ยนจังหวัดนครปฐม จากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ที่ประกอบด้วย นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นกลุ่มจังหวัดภาคกลางและปริมณฑล ที่ประกอบด้วย นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยรัฐบาลมีนโยบายให้เป็นกลุ่มที่เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน ศูนย์กลางโลจิสติกส์ ศูนย์กลางด้านสุขภาพ ศูนย์กลางการศึกษามาตรฐานสากล ธุรกิจการพาณิชย์ และอุตสาหกรรมระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกรุงเทพฯ

รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยป้อนให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนของจังหวัดนครปฐม อีกทั้งเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลักษณะการท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ หรือพักค้าง 1 คืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรภายในจังหวัดผลิตวัตถุดิบส่งเข้าโรงพยาบาล และโรงพยาบาลจะช่วยตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะส่งเสริมในเรื่องวิชาการ เบื้องต้นนำร่องส่งวัตถุดิบเข้าโรงพยาบาลนครปฐม และโรงพยาบาลอำเภอ 8 แห่ง และส่วนที่เหลือส่งเข้าสู่ตลาด โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เบื้องต้นส่งเสริมการผลิตด้วยวิธีกางมุ้ง โดยการสร้างโรงเรือนหรือมุ้งครอบคลุม 7 อำเภอ ประมาณ 500 โรงเรือน โดยมุ่งเน้นพืชผักที่เป็นความต้องการของตลาด ได้แก่ คะน้า แตงกวา ปวยเล้ง ผักสลัด เป็นต้น

ด้านการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะวันเดย์ทริป หรือไปเช้า-เย็นกลับ โดยภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ปีละกว่า 5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ วัด และร้านอาหารริมน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของจังหวัดนครปฐม เนื่องจากมีลำคลองสาขาจำนวนมาก โดยปัจจุบันจังหวัดได้มีการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ให้ผลิตวัตถุดิบนำออกมาจำหน่ายสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดน้ำ เช่น ตลาดน้ำดอนหวาย ตลาดน้ำลำพระยา ตลาดน้ำคลองมหาสวัสดิ์ เป็นต้น รวมถึงพยายามผลักดันเกาะลัดอีแท่น อ.สามพราน จ.นครปฐม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น

หนุนเชื่อมคมนาคม

นายชาญนะกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการรถไฟรางคู่เชื่อมหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ งบประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจากนครปฐม-ราชบุรี ใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท และโครงการบางใหญ่-เมืองกาญจน์ ที่ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนขยายรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงมาถึงบริเวณศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล อ.พุทธมณฑล มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.เมืองนครปฐม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.กำแพงแสน ที่มีนักศึกษาเข้ามาอยู่หลักหลายหมื่นคน แต่เป็นการเติบโตเป็นจุดบริเวณรอบมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทำให้การเจริญเติบโตขยายออกมาทางนี้มากขึ้น และการคมนาคมชานเมืองก็มีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคต อ.สามพราน นครชัยศรี และพุทธมณฑล จะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมากขึ้น

โดยด้านการคมนาคม นครปฐมจะต้องเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯให้มากขึ้น โดยรัฐบาลมีโครงการที่จะทำวงแหวนรอบที่ 3 เชื่อมต่อวงแหวนรอบใน ถนนรัชดาภิเษก และวงแหวนรอบนอก ถนนกาญจนาภิเษก โดยวงแหวนรอบที่ 3 จะกินเนื้อที่ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ และนนทบุรี โดยกรมทางหลวงออกแบบไว้เบื้องต้นแล้ว และอยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนและนำไปปรับแก้ เนื่องจากมีการออกแบบมานานกว่า 10 ปีแล้ว อีกทั้งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐมได้เสนอให้จัดสร้างศูนย์กระจายตู้คอนเทนเนอร์ระบบรางขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้าที่ อ.พุทธมณฑล อยู่แล้ว

รับอานิสงส์ – ปัจจุบันจังหวัดนครปฐมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณด้านตะวันออกของจังหวัดนครปฐมที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ เช่น อำเภอพุทธมณฑลและนครชัยศรี มีการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดกลางถึงบน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

 

ดันศูนย์ขนส่งระบบราง

นายสุรเดช นิลเอก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐมได้ผลักดันการสร้างศูนย์กระจายตู้คอนเทนเนอร์ระบบราง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการทำพิธีการศุลกากร และสามารถขนส่งสินค้าไปได้ถึงท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงท่าเรืออื่น ๆ ในอนาคต ขณะนี้เพิ่งได้รับงบประมาณจากงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 กว่า 10 ล้านบาท ในการนำมาทำการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งมองว่าสถานีหนองปลาดุกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งนี้หากแล้วเสร็จจะช่วยลดความหนาแน่นการจราจรบนท้องถนน รวมถึงทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในภาคตะวันตกมากขึ้น

แม้จังหวัดนครปฐมจะมีการขยายตัวในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง แต่มองว่าการคมนาคมขนส่งเป็นหนึ่งปัญหาที่ล้มเหลว เห็นได้จากที่ขณะนี้มีรถไฟรางคู่กรุงเทพฯ-นครปฐมแล้ว แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีขบวนรถไฟมาวิ่งบริการให้ประชาชน หากสามารถนำรถไฟมาวิ่งในเส้นทางนี้ได้ จะเป็นมิติใหม่ของการเดินทางภาคตะวันตก ที่จะเข้าไปเชื่อมต่อชานเมือง จะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รวมถึงยังส่งผลดีต่อจังหวัดข้างเคียง เช่น ราชบุรี ประกอบกับปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะลดน้อยลง ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึ่งรถส่วนตัว

“อนาคตการขยายทางยกระดับจากพุทธมณฑลสาย 2 ไปจนถึงจุดตัดถนนเพชรเกษมและบรมราชชนนี และการก่อสร้างมอเตอร์เวย์จากนครชัยศรีไปชะอำ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาเตรียมที่จะลงทุน รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนเส้นบางใหญ่-บ้านโป่ง ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปแล้วประมาณ 10-20% เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้จังหวัดนครปฐมเป็นจุดกระจายการขนส่งที่น่าสนใจ”


ทั้งนี้ ทิศทางจังหวัดนครปฐมในอนาคตจะเป็นระเบียงกรุงเทพฯ เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน มองพื้นที่ที่ศักยภาพที่น่าลงทุนอสังหาฯ คือ อ.ดอนตูมและกำแพงแสน แต่ยังไม่สามารถขยายไป อ.นครชัยศรี อ.พุทธมณฑล และอ.สามพรานบางส่วนได้ เนื่องจากปัจจุบันยังติดข้อจำกัดด้านผังเมือง ที่เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่เกษตรอยู่น้อย และปล่อยเป็นพื้นที่รกร้าง