เปิดมุมมอง “วีรพงษ์” ประธานสภาอุตฯ อุดรธานี ชูจุดแข็งเกษตร-การค้าปลุกเศรษฐกิจ

คลุกคลีและทำงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีมานาน สำหรับ “วีรพงษ์ เต็งรังสรรค์” นักธุรกิจไฟแรงคนอุดรธานีโดยกำเนิด นอกจากธุรกิจร้านทองของครอบครัว และขยับขยายมายังธุรกิจประกอบรถสามล้อสกายแล็บ สามล้อรถตุ๊กตุ๊ก รวมถึงธุรกิจรับเหมางานโครงสร้างเหล็ก ตกแต่งสเตนเลส ที่ล่าสุดเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี จากก่อนหน้านี้ ที่เคยทำหน้าที่รองประธานสภาฯ มาระยะหนึ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ที่จะมีวาระการทำงาน 2 ปี ถึงนโยบายการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมจากนี้ไป

Q : ภาพรวมของธุรกิจ-อุตสาหกรรม ของอุดรธานีในวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

โดยภาพรวมค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากอุดรฯ ยังพึ่งพาด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ พื้นฐานกว่า 70% เป็นด้านการเกษตร และกลายเป็นจุดแข็งของจังหวัด และมีการต่อยอดการเกษตรไปยังอุตสาหกรรม เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงงานยางพารา โรงงานมันสำปะหลัง รองลงมาเป็นโรงงานพลาสติก หรือโรงงานผลิตคอนกรีต

แต่เนื่องจากที่ผ่านมา สินค้าเกษตรมีราคาไม่ดีนัก นอกจากจะกระทบกับเกษตรกรแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลกระทบกับโรงงานอุตสาหกรรมตามมา เนื่องจากมีผลผลิตมา ป้อนโรงงานน้อยลงที่เป็นปัญหาในตอนนี้ก็คือ อุดรธานีไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ที่มีนัยสำคัญเพิ่ม ไม่ได้ลงทุนด้านนวัตกรรม ไม่ได้มีการขยายโรงงาน ยังใช้กำลังการผลิตเท่าเดิม

ขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน จากเดิม 180 บาท/วัน เท่ากับว่าค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โรงงานไม่เหลือกำไร

Q : มีนโยบายเกี่ยวกับสมาชิก-การช่วยเหลือสมาชิกอย่างไร หรือไม่

ปัจจุบันมีสมาชิก 60 ราย แต่จริง ๆ อุดรธานีมีโรงงานประมาณ 1,000 ราย จึงวางแผนจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมสมาชิก เพื่อรับฟังปัญหาต่าง ๆ แล้วนำกลับมารวบรวมมาเป็นประเด็น เพื่อนำข้อมูลเสนอในเวทีของจังหวัด ซึ่งจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปเป็นคณะทำงานหลายคณะ เช่น กรอ. กรมการจังหวัด เพื่อผลักดันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ขณะเดียวกันอยากเชิญชวนให้โรงงานต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม

Q : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายอะไรเป็นพิเศษหรือไม่

ตอนนี้คงต้องรอดูนโยบายของประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และกรรมการชุดใหม่ที่เพิ่งมีการเลือกตั้งไป (19 มีนาคมที่ผ่านมา) ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ที่ผ่านมาสภาอุตฯ ได้เดินทางมาประชุมที่อุดรธานี มีนโยบายจะส่งเสริมพัฒนาสมาชิกให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ประสานงานกับสมาชิก รวมทั้งได้รับรู้ถึงปัญหา และวางแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน

โดยจะนำปัญหาจากสภาจังหวัดไปประชุมร่วมกับผู้บริหารประเทศ และล้อไปกับนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยส่งเสริมมาตลอดก็คือ Industry 4.0 ส่งเสริม Start up และ Smart City

Q : ในฐานะประธานสภาอุตฯอุดรธานีจะผลักดันอะไรเป็นพิเศษ

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการค้าขาย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ยังขาดการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น แนวทางสำคัญอย่างหนึ่งคือ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งอยากผลักดันให้เป็นรูปธรรม ต้องการเห็นสมาชิกและผู้ประกอบการ ปรับตัวไปสู่ Thailand 4.0 ให้ได้ จริง ๆ อุดรธานีมีดีเยอะ มีคนสนใจนวัตกรรมจำนวนมาก น่าจะนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะชน หรือจัดเวทีประกวดการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ แอปพลิเคชั่น ให้รางวัลจูงใจให้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ หาผู้ลงทุน โดยอาศัยคอนเน็กชั่นของสภาอุตฯอุดรธานี

Q : คาดหวังกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอุดรธานีไว้อย่างไร

ในแง่เศรษฐกิจของอุดรฯ โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะทรง ๆ เติบโตได้ไปจนถึงปีหน้า ส่วนหนึ่งเพราะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง แม้กระทั่งเรื่องของอีอีซีที่รัฐบาลกำลังเร่งทำ ทั้งหมดเป็นเรื่องของอนาคตในอีก 3-5 ปี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังทรง ๆ ตัว

สำหรับอุดรฯ นอกจากเรื่องของภาคการเกษตรที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดแล้ว ยังมีการค้าขายกับ สปป.ลาว รวมทั้งแรงงานที่เดินทางไปต่างประเทศ ส่งเงินกลับบ้าน ฯลฯ

ที่น่าสนใจและกำลังจะเป็นดาวรุ่งของจังหวัด อันดับ 1 คือ การท่องเที่ยว จากนโยบายประเทศและจังหวัด ที่ต้องการผลักดันด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับ ปัจจุบัน มีสายการบินบินมาอุดรฯจำนวนมาก ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดงานกระตุ้นการท่องเที่ยวหลายงาน เช่น งานมหกรรมผ้าทอมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เป็นต้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการบริการ เช่น โรงแรม ที่พัก ที่จะได้อานิสงส์ รวมถึงการประชุมสัมมนาต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในอุดรฯ ที่มีโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้บริการ ทั้งในเรื่องของสุขภาพและความงาม ก็ทำให้มีลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก