กรมประมงปิดอ่าวอันดามัน 3 เดือน เพิ่มสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจ 5.47 เท่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) ต.ไสไทย อ.เมืองกระบี่ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2561 โดยมีนายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวรายงาน โดยมี พันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งร่วมพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พิธีปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ การปล่อยพันธุ์กุ้งแชบ๊วย 500,000 ตัว พันธ์ปู 20,000 ตัว ลงสู่ท้องทะเล และชมนิทรรศการทางด้านการประมงที่นำมาจัดแสดง

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การใช้มาตรการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง จำนวน 4696 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.3 ล้านไร่ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2561 ผลจากการใช้มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน พบว่าในบริเวณปิดอ่าวปีที่ผ่านมา อัตราการจับสัตว์น้ำต่อชั่วโมงเพิ่มจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าชาวประมงพื้นบ้านมีการใช้แหจับกุ้งได้ในหลายพื้นที่ของการปิดอ่าว ซึ่งการปฏิบัติงานด้านการควบคุมการทำประมง จะสัมฤทธิ์ผลได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของพี่น้องชาวประมง และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่มุ่งเน้นและตระหนักถึงคุณประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำสืบไป

ด้านนายมานิต ดำกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ ได้รายงานสภาวะการประมงว่า จังหวัดกระบี่ มีชายฝั่งทะเลยาวตลอดแนว 160 ตารางกิโลเมตร มีเกาะน้อยใหญ่ 154 เกาะ มีหมู่บ้านชาวประมง 116 หมู่บ้าน มีผู้ประกอบการอาชีพด้านการประมง 8,398 ครัวเรือน มีเรือประมง 1,720 ลำ แบ่งเป็น เรือประมงพื้นบ้าน 93.43% และเรือประมงพาณิชย์ อวนล้อมจับ (อวนดำ) อวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน อวนครอบหมึก เรือปั่นไฟ ลอบปู เบ็ดมือ เบ็ดราว อวนติดตา 6.57% มีผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เลี้ยงกุ้ง ปลาในกระชัง และอื่นๆ 1,263 ราย

โดยสภาพภูมิศาสตร์ทางทะเลของจังหวัดกระบี่มีลักษณะเป็นอ่าวและมีเกาะเป็นจำนวนมาก อดีตมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ มีการทำการประมงพื้นบ้านเป็นหลัก แต่มีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการบริโภคสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น และได้มีการพัฒนาเครื่องมือทำการประมงทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง สมาคม ร่วมกับชาวประมงจังหวัดกระบี่ ร่วมมือกับราชการปลูกจิตสำนึกของชาวประมงตลอดมา และมีมาตรการด้านการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของจังหวัดกระบี่หลายฉบับ สำหรับการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำฤดูปลามีไข่ฯได้ดำเนินการต่อเนื่อง และมีการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าทะเลอันดามันบางส่วนในเขตจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง และพังงา เป็นแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สมควรที่จะใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากร โดยการห้ามทำการประมงในบางพื้นที่ บางเครื่องมือและบางเวลา เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ

นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ผลการศึกษาหลังจากมีการกำหนดใช้มาตรการ พบว่าอัตราการจับสัตว์น้ำหลังจากใช้มาตรการกับก่อนใช้มาตรการเพิ่มขึ้นทุกเครื่องมือการจับสัตว์น้ำ เช่น อวนลากเดี่ยว เพิ่มขึ้นจาก 37 กก./ชม. เป็น 49 กก./ชม. หรือร้อยละ 32.4 อวนลากคู่ เพิ่มขึ้นจาก 72 กก./ชม. เป็น 90 กก./ชม. หรือร้อยละ 25 อวนล้อมจับ เพิ่มขึ้นจาก 1,465 กก./ชม. เป็น 1,700 กก./ชม. หรือร้อยละ 16.04 อวนปลาทู ปลาลัง เพิ่มจาก 70 กก./ชม. เป็น 120 กก./ชม. หรือร้อยละ 71 อวนกุ้ง 3 ชั้น เพิ่มจาก 60 กก./ชม. เป็น 120 กก./ชม. หรือร้อยละ 100 เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งทำการประมงที่สำคัญพื้นที่บริเวณระหว่างเกาะพีพีและเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จากข้อมูลของกรมประมงพบว่าหลังปิดอ่าวอันดามัน 3 เดือน ทำให้ปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมีประชากรปลาทู เพิ่มสูงถึง 5.47 เท่า

สำหรับปี 2561 นี้ กรมประมงได้มีประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 มีนาคม 2561 เป็นไปตาม มาตรตรา ที่ 70 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ 2560 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญดังนี้ คือ 1. ห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่กำหนดในเขตจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง จำนวน 4,696 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.3 ล้านไร่ 2. ยกเว้นเครื่องมือทำการประมงบางประเภทให้ทำการประมงได้ จำนวน 13 ข้อ เช่น อวนลากแผ่นตะเฆ่ ความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร ทำได้ในเวลากลางคืนและนอกเขตทะเลชายฝั่ง อวนล้อมจับปลากะตัก เวลากลางวัน และเครื่องมือประมงพื้นบ้านประเภทต่าง ๆ เป็นต้น 3. ระยะเวลาห้ามทำการประมงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายนของทุกปี รวมระยะเวลา 3 เดือน