ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานีในช่วงเทศกาลที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จึงทำให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้องเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการจัดงานสังสรรค์ในหมู่ญาติมิตร ตามแหล่งชุมชนหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจรได้
ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 จังหวัดอุดรธานีเกิดอุบัติเหตุจำนวน 161 ครั้ง มากกว่าเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 จำนวน 50 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) จำนวน 168 ราย มากกว่าเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 จำนวน 43 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย น้อยกว่าเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 จำนวน 7 ราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดอันดับ 1 คือเมาสุรา ถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด อันดับ 1 ถนนในหมู่บ้าน อบต. พบผู้ประสบอุบัติเหตุอันดับ 1 เป็นคนในพื้นที่ และเกิดอุบัติเหตุใหญ่ 2 ครั้ง คือ อ.บ้านดุง และ อ.เมือง อุดรธานี
ปี 2561 จังหวัดอุดรธานีจึงเตรียมมาตรการรับมือเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วยกลยุทธ์ “สามหัวใจให้อุดร เมืองถนนปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ 2561” ประกอบด้วย “สี่ด่านปกป้อง ตีปีกแมงขี้นาก ส่องทุกพื้นที่” โดย สี่ด่านปกป้อง คือ 1.ด่านครอบครัวเข้มข้น 2.ด่านชุมชนร่วมประสาน 3.ด่านบูรณาการจุดเสี่ยงทุกพื้นที่ และ 4.ด่านตีปีกแมงขี้นาก ในความหมายการตีปีกแมงขี้นากคือ กลไกความร่วมมือของตำรวจและโรงพยาบาล ได้แก่ 1.ตรวจเป่าแอลกอฮอล์ทั้งสองฝ่าย เมาแล้วขับบนถนนและบาดเจ็บเล็กน้อย 2.ตรวจเลือด บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ซึ่งผลแอลกอฮอล์มากกว่า 50 mg% จะดำเนินคดีทุกราย และเยี่ยมเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “เทศกาลสงกรานต์ 2561 และตลอดปี” ส่องทุกพื้นที่ ได้แก่ 1.เก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน 2.สอบสวนเชิงลึกวิเคราะห์สาเหตุทันที 3.คืนข้อมูลในพื้นที่แก้ไขความเสี่ยง และ4.เตรียมพร้อมตอบโต้สถานการณ์เมื่อเกิดเหตุ
นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จังหวัดอุดรธานีจะเป็นจังหวัดแรกที่จะมีการ Conference กับนายอำเภอทั้ง 20 อำเภอถึงสถานการณ์ของแต่ละอำเภอ ที่ผ่านมาจากการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนที่ประสบอุบัติเหตุมักจะมาจากรอบนอก ที่เข้ามาเล่นน้ำสงกรานต์และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตัวเมืองช่วงกลางวัน แล้วเดินทางกลับในช่วงค่ำ จึงต้องมีการตั้งด่านรอบตัวเมืองอุดรธานีและจับเป่าแอลกอฮอล์
ปัจจุบันจังหวัดอุดรธานีมีเครื่องเป่า 82 เครื่อง เครื่องตรวจจับความเร็ว 4 เครื่อง และที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ รถยนต์โดยสารสาธารณะ เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำ รวมไปถึงการสอดส่องแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ คำชะโนด วัดป่าภูก้อน หรือแหล่งน้ำต่างๆ ได้แก่ หนองประจักษ์ศิลปาคม และหนองสิม เขตเทศบาลนครอุดรธานี อ่างน้ำพาน อ.สร้างคอม อ่างปะโค อ.กุมภวาปี ห้วยตาดข่า อ.หนองวัวซอ เป็นต้น
โดยจังหวัดอุดรธานีได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) พ.ศ. 2561 โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอุดรธานี ได้กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัย และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) และวิธีการเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย ซึ่งร่วมบูรณาการหน่วยงานทางวัฒนธรรม ภาคสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำที่เป็นอันตราย ร่วมถึงสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยและปลูกฝังค่านิยมในการเล่นน้ำสงกรานต์ ตามประเพณีและวัฒนธรรมไทยอันดีงาม ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี 42 แห่ง ให้เป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนถือปฏิบัติ ดังนี้
1.ช่วงเวลาของการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) ตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น. สำหรับนอกเขตพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (นอก Zoning) ให้เล่นได้ระหว่างเวลา 11.00-19.00 น.
2.ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์ตามวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงาม เชิญชวนให้แต่งกานสุภาพเรียบร้อยและไม่ใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม หรือกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนับ โดยเปลือย หรือเปิดเผยร่างกายจนเกินงาม หรือกระทำการลามกอย่างอื่นที่เข้าข่ายอนาจาร
3.ห้ามเล่นน้ำในลักษณะเสี่ยงที่อาจทำให้ก่อเกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุทางถนน เช่น การเล่นน้ำบนท้ายรถกระบะ การเล่นน้ำสงกรานต์ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ การสาดน้ำใส่ผู้ที่กำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น 4.ห้ามเล่นน้ำสงกรานต์โดยเจตนากระทำการอนาจาร ลวนลามเพศตรงข้าม หรือส่อไปในทางอนาจาร
5.ห้ามเล่นสาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง หรืออุปกรณ์เล่นน้ำที่อาจเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
6.ห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน น้ำสกปรก แป้ง สี ของเหลว ที่เน่าเหม็น การขว้างปาถุงน้ำแข็งอันอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือสร้างความไม่พอใจแก่ผู้อื่น 7.การดื่ม จำหน่าย ซื้อ ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
8.ให้อำเภอประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ ติดป้ายประชาสัมพันธ์แสดงขอบเขตและแนวทางการปฏิบัติในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) ให้ประชาชนรับทราบก่อนเข้าพื้นที่อย่างชัดเจน 9.ให้มีการตั้งป้ายเตือน หรือป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวนการเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิธีไทยและประหยัดน้ำ
10.งดการตั้งเต็นท์ หรือเครื่องเสียงบนผิวจราจรในเขตทางสาธารณะ ยกเว้นพื้นที่หน่วยราชการกำหนดเป็นเขตพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย (Zoning) เท่านั้น ที่ได้รับการผ่อนผันเป็นพิเศษ
11.ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติจราจร 2522, พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 , พระราชบัญญัติสุรา 2493 , คณะทำงานกำหนดจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) และหน่วยงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 12-15 เมษายน 2561
12.หากข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และบุคลากรของรัฐถูกดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2561 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งรายชื่อให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของผู้กระทำความผิดทราบ เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยด้วย