อุดรฯ เร่งส่งออก-ท่องเที่ยว รุกตั้งฮับเกษตรอีสานดัน GPP โต 4%

อุดรฯกางแผนหนุนท่องเที่ยว-ไมซ์ซิตี้-อุตฯทอผ้าซิ่น-แปรรูปสินค้าเกษตร ปั้นรายได้กระจายลง 20 อำเภอ ค้าปลีก-ค้าส่ง ภาคเกษตร ศูนย์กลางทางการเงิน อสังหาฯ ตัวจักรหลักขับเคลื่อน ตั้งเป้า GPP ขยายตัวต่อเนื่อง 3.5-4% รออานิสงส์รถไฟทางคู่ ฮับการบิน ดันเศรษฐกิจโตก้าวกระโดด ชี้ “คำชะโนด” บูม อำเภอบ้านดุง แห่ลงทุนรีสอร์ต-ร้านค้าคึกคัก

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปี 2561 จังหวัดอุดรธานีจะเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และไมซ์ซิตี้ มีศูนย์กลางการจัดประชุมและที่พักรองรับกว่า 4,000-5,000 ห้อง และให้ความสำคัญกับการแปรรูปสินค้าผ่านการใช้นวัตกรรม และสนับสนุนการทอผ้าซิ่น เพื่อสร้างรายได้เข้าจังหวัดและกระจายไปสู่ประชาชนกว่า 1.5 ล้านคน ใน 20 อำเภอ ขณะที่ด้านการค้าปลีก-ค้าส่งยังโดดเด่น มั่นใจว่าหากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตภาคเกษตร และบริหารจัดการเรื่องท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

สินค้าโอท็อป การท่องเที่ยวชุมชน จะส่งผลด้านบวกทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5-4%เทียบปี 2560 ตัวเลข GPP อยู่ที่ 137,900 ล้านบาท ซึ่งมาจากการค้าปลีก-ค้าส่ง ประมาณ 21,280 ล้านบาท คิดเป็น 20.4% ถัดมาคือภาคการเกษตร 17,320 ล้านบาท คิดเป็น 12% การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน 16,600 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 16,247 ล้านบาท ภาคอสังหาริมทรัพย์ 14,038 ล้านบาท และอื่น ๆ อีก 11 สาขา รวม 45,471 ล้านบาท รายได้ประชากรเฉลี่ย 103,000 บาท/คน

ชูท่องเที่ยวเมือง 3 ธรรม

จุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของอุดรฯ ถือเป็นเมือง 3 ธรรม คือ 1) ทางธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น ทะเลบัวแดง ภูฝอยลม โดยเฉพาะคำชะโนด มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง 6,000 คน/วัน และเสาร์-อาทิตย์ประมาณ 10,000 คน/วัน 2) ธรรมะ แหล่งของอริยสงฆ์ มีเกจิอาจารย์และพระสายปฏิบัติอยู่ทั่วทั้งจังหวัด เช่น วัดภูก้อน พระพุทธบาทบัวบก 3) วัฒนธรรม เช่น บ้านเชียง อารยธรรมเก่าแก่ 5,000 ปี การถักทอผ้าซิ่น ซึ่งจะปักธงให้เมืองอุดร เป็นศูนย์กลางของผ้าทอมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ขณะเดียวกัน ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจากที่ได้จัดงานขายผ้า ครั้งที่ 2 สามารถเก็บตัวเลขการขายสิ่งทอได้รวม 25 ล้านบาท ซื้อขายล่วงหน้าอีก 25 ล้านบาท แมตชิ่งธุรกิจ 15 ล้านบาท สตรีตฟู้ดนานาชาติกว่า 3 ล้านบาท รวมทั้งงานมีรายได้ 69 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ทั้งปีมีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท แบ่งรายได้จากผ้าทอมือเพียงอย่างเดียวกว่า 1,600 ล้านบาท

ชูท่องเที่ยว – ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ของทุกปี ดอกบัวในทะเลบัวแดงหรือทะเลสาบน้ำจืดที่สวยที่สุดติด 1 ใน 10ของโลกบนพื้นที่กว่า 27,000 ไร่ จะเต็มไปด้วยดอกบัวนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก


สินค้าเกษตรส่งออกนอก

นายวัฒนากล่าวว่า ส่วนพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดตลอดทั้งปี ได้แก่ 1)อ้อย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 650,000 ไร่ มีโรงงานน้ำตาลกว่า 4 โรงงาน 2) ยางพารา มีพื้นที่ปลูกกว่า 520,000 ไร่ 3) ข้าว พื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 500,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว และ 4) มันสำปะหลัง 290,000 ไร่ ที่เหลือจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ มีพื้นที่ปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ปัจจุบันถือเป็นพืชเศรษฐกิจโดดเด่นมีการส่งออกไปเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่นที่ส่งออกไปเวียดนาม

นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เดินทางด้วยรถยนต์เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน และซื้อสินค้าภายในจังหวัด เกิดการค้าปลีก-ค้าส่งระหว่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอุดรฯ มีตลาดเมืองทอง ตลาดกระจายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งในอนาคตจังหวัดต้องการสนองนโยบายของรัฐบาล โดยส่งเสริมพัฒนาให้เป็นศูนย์ค้าส่งพืชเกษตรปลอดภัยที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เทียบกับปัจจุบันมีเงินสะพัดในตลาดประมาณ 109 ล้านบาท

อานิสงส์ One Belt One Road

ปัจจุบันภาคการลงทุนเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในตัวเมืองอุดร อาคารชุดกำลังได้รับความนิยม ที่เหมาะแก่การลงทุน คือ อำเภอเมือง และอำเภอกุมภวาปี แต่ที่เจริญเร็วมากที่สุด คือ อำเภอบ้านดุง ที่ตั้งของคำชะโนด มีการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก ร้านค้า รีสอร์ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในอนาคตหากมีการเชื่อมโยงโครงการ เส้นทางสายไหม (One Belt One Road)จากจีน หรือแนวรถไฟทางคู่เชื่อมจังหวัดขอนแก่น-หนองคาย เมืองอุดรจะเป็นทางผ่าน เกิดผลดีทางด้านเศรษฐกิจตามมา ศักยภาพอีกด้านคือการบิน ซึ่งสนามบินอุดรฯมีเที่ยวบินไป-กลับ เชื่อมกับภูมิภาคอื่นกว่า 58 เที่ยวต่อวัน ดังนี้ ภาคเหนือ-เชียงใหม่ ภาคใต้-หาดใหญ่ ภูเก็ต ภาคตะวันออก-อู่ตะเภา ภาคกลาง-กรุงเทพฯ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และภายในภาคอีสาน-อุบลราชธานี โดยมีทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้า-ออกผ่านสนามบินอุดรฯ ประมาณ 8,000 คน/วัน

หนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ด้านนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจอุดรธานียังคงชะลอตัว จำเป็นต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานผลักดันขีดความสามารถของจังหวัดให้สอดรับกับการเติบโตในอีก 2 ปีข้างหน้า ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบิน การยกระดับสู่เมืองสมาร์ทซิตี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

“แม้พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รองรับจังหวัดบึงกาฬ เลย สกลนคร จะอยู่ใกล้กับชายแดน แต่การเติบโตของเมืองหลวง สปป.ลาว ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจของอุดรฯด้วย แม้อุดรฯไม่มีเขตชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง สินค้าอุปโภคบริโภคต้องส่งออกจากอุดรฯไปด่านศุลกากรที่หนองคายกับมุกดาหาร”