พ่อเมืองตรังสั่งล้อมคอกตรวจสอบ 5 อำเภอบ่อทรายเถื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการลักลอบขุดดินดูดทรายและขุดดินในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตรัง และทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน และคลองลำพิกุล รวม 5 อำเภอโดยไม่ได้รับอนุญาต และเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์ ปล่อยปละละเลยนั้น

นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ในฐานะหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต เปิดเผยว่า ขอเรียนชี้แจงว่า การดูดทรายในพื้นที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงการทำนอกพื้นที่เป็นการทำโรงงานเถื่อนที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดกำกับดูแลตาม พรบ.โรงงานเกี่ยวกับการดูดทราย ซึ่งจะต้องดำเนินคดีจับปรับหากรับสารภาพเมื่อส่งคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ถ้าปฎิเสธแต่มีตัวการที่ชัดเจนจะส่งฟ้องศาลต่อไป ในกรณีผู้ประกอบการทำผิดเงื่อนไขตามอนุญาต จะมีการสั่งการให้ปรับปรุงทำให้ถูกต้อง ส่วนเรื่องข่าวการส่งส่วยนั้นขอยืนยันว่าทางอุตสาหกรรมตรังไม่มีส่วนรู้เห็นได้เสียกับเรื่องดังกล่าว

“กระบวนการขอใบอนุญาตการดูดทรายมี 2 ประเด็นคือ ดูดทรายแม่น้ำ มีคณะกรรมการร่วมพิจารณา 15 หน่วยงานมีผ็ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เป็นเลขา ช่วยกันพิจารณาความเหมาะสม ก่อนที่อุตสาหกรรมจะออกใบอนุญาตต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวมาแล้ว หากดูดทรายบก ทรายในที่กรรมสิทธิ์หากผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ทางอุตสาหกรรมจะพิจารณาในขั้นต้นและส่งเรื่องกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาให้แก่ผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่ง”นางพรทิพากล่าว


นายวสันต์ ถนอมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้นทางอำเภอจะต้องเข้าไปตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการก็ถือว่าไม่ตั้งใจปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้น ถ้าละเว้นจะมีบทลงโทษตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เช่นเกิดขึ้นในอำเภอ แต่นายอำเภอไม่ทราบว่าพบการลักลอบดูดทราย หรือได้มีการมอบหมายหรือไม่ ก็ว่ากันไปตามระเบียบเป็นมาตรการ หากการสอบสวนว่ามีการละเว้นไม่ปฎิบัติตามหน้าที่ก็จะถูกลงโทษ ดังนั้นคนรับผิดชอบจะต้องพึงระมัดระวัง

“เรื่องของการอนุญาตเมื่ออุตสาหกรรมออกใบอนุญาตไปแล้ว ในกฎหมายระบุไว้หรือไม่ว่าต้องไปตรวจสอบ สุ่มตรวจ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องใบอนุญาต กำกับดูแลการดูดทรายถ้าไม่ปฎิบัติหน้าที่จะเข้าข่ายละเว้นหรือไม่ ในส่วนของผู้ประกอบการถ้าได้รับอนุญาติให้ดูดในพื้นที่เอกสารสิทธิ แต่ไปทำล่วงล้ำนอกเขตเอกสารสิทธิ์ ก็ถือว่ากระทำความผิดต้องถูกลงโทษตามระเบียบและรับผิดชอบทางอาญาและแพ่งแล้วแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้วก็ต้องกระทำตามข้อบังคับ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวทางจังหวัดตรังมีความชัดเจนถึงบทลงโทษคนที่กระทำความผิดทุกกระบวนการ” นายวสันต์กล่าว

ด้าน พ.อ.พิชิต แก้วโชติ รอง ผอ.กอ.รมน.ตรัง กล่าวว่า หลังจากนี้ทางหน่วยงานรับผิดชอบจะมีมาตรการชัดเจนอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก ที่ผ่านมาตนเคยเสนอให้มีการแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจดำเนินการ หากปล่อยให้มีการต่างคนต่างตรวจสอบจะเกิดการสมยอมกันได้ เช่น ทางอุตสาหกรรม เมื่อออกใบอนุญาตไปแล้วได้มีการติดตามตรวจสอบผู้ประกอบการได้ทำในพื้นที่หรือไม่ ถือว่าเป็นการกำกับดูแล หากไม่ลงไปตรวจสอบจะถือว่าเป็นการละเลยหรือไม่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าทำกันอย่างนี้ตนถือว่าเป็นเพียงไฟไหม้ฝาง การกระทำผิดที่เกิดขึ้นจะโยนภาระให้ทางตำรวจก็คงไม่ไหว จะต้องจับผู้กระทำความผิดให้ได้

“ผมอยากให้ทางทหารลงพื้นที่ไปทุกครั้งในการปฎิบัติการ ลงไปตรวจสอบทุกพื้นที่ เพื่อจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะที่มีการร้องเรียนมานั้น มีการกระทำความผิดกันทั้งนั้น เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น จะไล่ใครไปถึงไหนไม่ใช่ทำเพียงผ่านๆ ก็รู้ๆกันอยู่ มีความเกรงใจ รู้ว่าใครทำแต่ไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง ขอให้ชัดเจน กอ.รนม.ตรัง ได้รับหน้าที่ลงมาตรวจสอบ หากมันยังนิ่งๆกันอยู่ ผมมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าทำเอง แม้จะเกิดปัญหาบ้างแต่อยากให้เกิดความชัดเจน” พ.อ.พิชิต กล่าว


ขณะที่ นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อตนทราบเรื่องว่ามีการลักลอบขุดดินและดูดทรายในพื้นที่จังหวัดตรัง 5 อำเภอ ได้สั่งการให้นายอำเภอลงไปตรวจสอบ ตนไม่ทราบเลยว่ามีการลักลอบดูดทรายกันอย่างไร ส่งส่วยกันอย่างไร จึงมอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ชงเรื่องมาให้ดู เรื่องดูดทรายตนยังไม่เคยให้อนุญาตใครเลยสักใบ ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการส่งส่วยนั้น ตนเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน ยืนยันว่าไม่มีใครจ่ายเงินให้ตน ถึงจะจ่ายตนก็ไม่รับ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมายเป็นการเอาเปรียบสังคม เรื่องนี้ตนจะดำเนินการอย่างชัดเจน ไม่มีการละเว้น ตนในฐานะเจ้าพนักงานก็ต้องรับผิดชอบไปตามสัดส่วน การดำเนินการตรวจสอบอยู่ที่หน่วยงานแต่ละหน่วยต้องดำเนินการ

นายศิริพัฒ กล่าวอีกว่า ถ้าพบเครื่องจักรทิ้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ขออนุญาต อุตสาหกรรมจะต้องหาตัวผู้กระทำความผิดและลงโทษตามกฎหมายอุตสาหกรรม ถ้าเป็นพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องแต่ทำเกินขอบเขตที่ดิน ทางที่ดินต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ที่ไม่ได้รับอนุญาต ป่าไม้และเจ้าท่าภูมิภาคต้องดูคู่กัน การสอบจะต้องสอบทั้งในกรณีที่คนกระทำความผิด ในขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาก็ต้องสอบเจ้าหน้าที่ละเว้นปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ และสรุปรายงานมายังผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นขั้นเป็นตอน จะไม่มีการปล่อยให้มีการทำแบบแล้วๆกันไป

“หากมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยกันเอง เมื่อตรวจสอบพบความจริงจะมีโทษหนักขึ้น คงไม่มีใครกล้า ผมเองมีความชัดเจนเรื่องนี้ บางอำเภอตอบว่าไม่มีแต่อย่างใด ผมจึงสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรให้นายอำเภอตรวจสอบพร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ทางจังหวัดลงไปตรวจสอบด้วย ผมเชื่อว่ายุคนี้คนทำผิดก็ต้องกล้ารับผิด ที่ผ่านมามีการตรวจสอบปริมาณการดูดทรายกันอยู่ เพียงแต่ไม่ได้บรรจุไว้ในปฎิทินว่าทำเมื่อไหร่ หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องชี้แจงอยู่แล้ว ความผิดที่เกิดขึ้นหากได้รับอนุญาตแต่ไปทำนอกพื้นที่ถือว่าไม่ปฎิบัติตามใบอนุญาต ก็ต้องยึดใบอนุญาต ลงโทษตามกฎหมายกำหนด” นายศิริพัฒกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจาการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการลักลอบดูดทรายของเจ้าหน้าที่ พบร่องรอยการดูดทรายพื้นที่ อ.ห้วยยอด มีการดูดทรายตลอดริมแม่น้ำตรัง 3 ตำบล คือ ต.เขากอบ 3 จุด (ยกเลิก 2จุด) ต.นาวง 3 จุด ต.ปากคม 3 จุด ต.ปากแจ่ม ดูดทรายในลำคลอง อ.เมือง หมู่ 2 ต.นาท่ามใต้ หมู่ 5 ต.หนองตรุด อ.ปะเหลียน คลองลำปลอก หมู่ 6 และ หมู่ 4 ต.ปะเหลียน อ.ย่านตาขาว 5 จุด อ.วังวิเศษ 2 จุด หมู่ 6 และ หมู่ 9 ต.ท่าสะบ้า การเข้าตรวจของเจ้าหน้าที่ไม่พบอุปกรณ์เครื่องมือใด มีการลงบันทึกประจำวันและแจ้งความดำเนินคดีไปตาม สภ.ในพื้นที่แล้ว