“เชียงใหม่-ลำพูน”เร่งกระจายลำไย 1 พันตัน เปิดคาราวานเจาะตลาดทุกภาคทั่วปท. เริ่ม 3 ส.ค.

เชียงใหม่-ลำพูน เร่งเดินหน้ากระจายผลผลิตลำไยสด 1 พันตันทั่วทุกภูมิภาค นำร่องพื้นที่ 22 จังหวัด คัดผลลำไยสดช่อคุณภาพเกรด AA และเกรด A เผยมีมือที่มองไม่เห็นเข้ามากดราคา

นางภูษณิศ ไชยมณี ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไยที่ใหญ่ที่สุดใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เตรียมเดินหน้าแผนกระจายผลลำไยสดไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะปล่อยขบวนรถที่จะบรรทุกผลผลิตลำไย ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมนี้ เวลา 18.30 น. ณ บริเวณแยกดอยติ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต่อเนื่องทุกวันจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งแผนการกระจายลำไยสดรั้งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาลำไยราคาตกต่ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

สำหรับผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้ คาดว่ามีประมาณ 1.3 แสนตัน ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ช่วงต้นฤดู การส่งออกลำไยชะลอตัวไปในส่วนของลำไยอบแห้ง เพราะล้งที่เคยรับซื้อประมาณ 10 กว่าแห่ง หยุดรับซื้อ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงมีนโยบายให้อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ พบว่าเกษตรกรที่ขายแบบรูดร่วง ราคาจะยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 12 บาท มีการรับซื้อไปแล้วตั้งแต่ต้นฤดู เพื่อทำลำไยอบแห้ง ประมาณ 6 หมื่นตัน เหลืออีก 4 หมื่นตัน

นางภูษณิศกล่าวว่า ตลาดหลักลำไยอบแห้งที่สำคัญคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังไม่ถึงช่วงที่นิยมบริโภค เพราะอยู่ในช่วงหน้าร้อน จังหวัดจึงให้อำเภอที่มีโรงอบออกสำรวจร่วมกับพาณิชย์จังหวัด เร่งรัดเพื่อช่วยในการทำลำไยอบแห้งเก็บไว้ ขณะที่ตลาดส่งออกผลสด ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน ทุกตลาดเริ่มเปิดรับซื้อแบบไม่อั้นแล้ว ถือเป็นเรื่องดีของเกษตรกร ที่จะหันมาส่งผลสดกระจายภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ ออกมากที่สุดเกือบ 2,000 ตันต่อวัน เมื่อแบ่งสัดส่วนการกระจายผลผลิตออกไปแล้วจะเหลือประมาณ 500 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ จากการหารือระดับรัฐมนตรีของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายกระจายผลสดออกนอกจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิต โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้รับโควตา วันละ 5 แสนกิโลกรัม หรือประมาณ 500 ตันต่อวัน จากวันละ 1,000 ตัน ร่วมกับจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิต โดยต้องรวบรวมผลผลิต คัดแยกเกรด กระจายออกทุกจังหวัดที่ไม่ใช่แหล่งผลิต ขณะนี้รวม 22 จังหวัด จังหวัดละ 3 ตัน รวม 60 กว่าตัน ตามโครงการกระจายผลผลิตลำไยผ่านศูนย์ประสานการกระจายผลผลิตด้านการเกษตรสู่ผู้บริโภค ร่วมกับจังหวัดลำพูนและจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตอื่นๆ ถือเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่จะกลับมาทำสดช่อ ส่งให้ผู้บริโภคในประเทศ

โดยมีการกำหนดราคารับซื้อนำตลาดที่กิโลกรัมละ 20 บาท ดังนั้น ราคา 20 บาทในเกรด AA และเกรด A ที่เป็นช่อสด น่าจะได้ราคาดีกว่ารูดร่วง 12 บาท แต่เกษตรกรอาจต้องระดมคนในครัวเรือนช่วยกันเก็บช่วยกันลงตะกร้า หรือมัดช่อ เพราะผู้ประกอบการที่จะร่วมโครงการกับจังหวัดเชียงใหม่มีตั้งแต่กลุ่มวิสาหกิจสหกรณ์ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจากทุกส่วนที่ร่วมมือกัน

นางภูษณิศกล่าวอีกว่า ภาครัฐโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ (คจก.) พยายามช่วยประสานในการบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ขณะที่บริษัทประชารัฐรักสามัคคี สหกรณ์ต่างๆ ร่วมกับหอการค้า ได้ประสานงานไปยังจังหวัดที่จะระบายลำไยออกไปแล้ว ทราบว่าประชาชนต้องการรับประทานลำไยคุณภาพดี แต่ลำไยยังส่งไปไม่ถึง แต่ต้นทางกลับบอกว่าลำไยราคาตก จึงอยากให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการรูดร่วงส่งขายโรงงานอบแห้งกิโลกรัมละ 12 บาท หันมาขายสดช่อ ที่มีการกำหนดราคานำตลาดที่กิโลกรัมละ 20 บาทน่าจะดีกว่า

โดยขณะนี้เริ่มเปิดรับสมัครกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการรวบรวมผลสดที่จะกระจายออกไปจากแหล่งผลิต เพราะลำไยจำนวน 500 ตัน หรือ 5 แสนกิโลกรัมต่อวัน ต้องใช้จุดรวบรวมจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้สมัครร่วมโครงการกับจังหวัดรวม 4 ราย และสมัครเพิ่มอีก 2 – 3 ราย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หากมีกลุ่มเกษตรกร หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนใจ สามารถประสานได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนผลผลิตลำไยของเชียงใหม่ให้ออกนอกพื้นที่ เพราะปลายทางมีคำสั่งซื้อที่ยอมรับได้ หากพื้นที่ไม่พร้อมก็จะเป็นการเสียโอกาส และยอมรับว่าตลาดลำไยมีความซับซ้อนทางการค้า เพราะล้งที่เข้ามารับซื้อมีอิทธิพลสูงมาก ทำให้กลไกลตลาดลำไยเกิดปัญหาที่สำนักงานพาณิชย์ยุ่งยากจากมือที่มองไม่เห็นในการกำหนดราคาลงมา ซึ่งมีทั้งคนไทยและจีน โดยเฉพาะจีนที่หิ้วกระเป๋าเข้ามาซื้อเองโดยไม่ผ่านคนไทยก็มี