พลิกโฉม “แม่แจ่มแซนด์บ็อกซ์” 5 หมื่นไร่ เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดสู่พืชมูลค่าสูง

แม่แจ่มแซนด์บ็อกซ์

สวพส. พลิกโฉม “แม่แจ่มแซนด์บ็อกซ์” 5 หมื่นไร่ ขยายพื้นที่ 60 หมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนข้าวโพดเชิงเดี่ยวสู่พืชมูลค่าสูง ปักธงปลูกอะโวคาโด เมล่อน กาแฟ พืชผักในโรงเรือน ลดปัญหาการเผา พร้อมสร้าง Eco Brand “เกษตรกรคนดี” เครื่องหมายการค้าที่การันตีสินค้าจากเกษตรกรที่ไม่เผาป่า-พืชเชิงเดี่ยวและไม่มีสารเคมีตกค้าง

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง แถลงข่าวการดำเนินงานของ สวพส. ในปี 2567 ในประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาพื้นที่สูง “Best of the best” พื้นที่ท้าทายแม่แจ่ม SANDBOX อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เปิดเผยว่า แผนงานสำคัญในปี 2567 สวพส. จะปักธงพื้นที่แม่แจ่ม SANDBOX มุ่งพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูงในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะขยายพื้นที่เพิ่มอีก 10 หมู่บ้าน จากเดิมที่มี 50 หมู่บ้านที่ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชข้าวโพดเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชเกษตรมูลค่าสูงรวมพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ เพื่อลดไร่หมุนเวียน ลดปัญหาการเผาในแปลงเกษตรและพื้นที่ป่า ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน PM 2.5 โดยมุ่งนำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับใช้พัฒนาพื้นที่สูง

สำหรับพื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวราว 200,000-300,000 ไร่ ซึ่งการขับเคลื่อน แม่แจ่ม SANDBOX จะเน้นหลักและวิธีการทำงานแบบโครงการหลวง ซึ่งเกิดผลสำเร็จจนเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับทุก อบต.ในอำเภอแม่แจ่ม ในการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูง

ADVERTISMENT

อาทิ อะโวคาโด เมล่อน เสาวรส กาแฟ พืชผักในโรงเรือน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมด้านการตลาด ด้วยการดึงตลาดรับซื้อเข้ามารับซื้อกับเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง ทั้งโอ้กะจู๋ ซีพี ฯลฯ เพื่อขจัดความยากจน ส่งเสริมให้ทำการเกษตรยั่งยืน จากเดิมที่ลงทุน 40-50 ไร่ แต่ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ให้เหลือการลงทุน 1 ไร่ แต่ทำรายได้สูง

นายวิรัตน์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในปี 2567 สวพส.จะสร้าง “เกษตรกรคนดี” ภายใต้แบรนด์ Thai Highland Eco Friendly Certified เป็นเครื่องหมายการค้าที่รับรองและการันตีว่า สินค้าพืชผักผลไม้ทุกชนิดที่ส่งตรงมาจากเกษตรกรกว่า 6,000 ราย ที่ไม่เผาพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ไม่เผาป่า ไม่บุกรุกป่า และไม่มีสารเคมีตกค้าง

ADVERTISMENT

ปัจจุบัน สวพส. ได้ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 กลุ่มบ้าน จากพื้นที่สูงทั้งหมดจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ทั้งการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยนำหลักวิธีการปฏิบัติและองค์ความรู้โครงการหลวงไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ ของพื้นที่ ส่งผลให้มีการสร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่พื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับ

โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน คือประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สวพส. มีเป้าหมายขยายผลสำเร็จทั้งหมดไปแก้ปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูงที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศ ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ ๆ อย่างพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, บ้านหนองเขียว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยโกน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จะได้จัดเทศกาลชมสวน 2566 ภายใต้แนวคิด “แอ่วสุขใจ I wanna be (e)” นับเป็นอีกเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่และนักท่องเที่ยวต่างรอคอยที่จะชื่นชมความงามของดอกไม้เมืองหนาวนานาพรรณ อาทิ เจอราเนียม ฟอร์เก็ตมีน็อต บีโกเนีย พิทูเนีย ซัลเวีย แพนซี คัสตี้มิลเลอร์ เดซี่ เทียนนิวกินี และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จัดแสดงตามพื้นที่ต่าง ๆ ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ทั้งเรือนกล้วยไม้ เรือนดอกไม้ และเรือนร่มไม้