ดีแอนด์แซดฯ โรงงานแปรรูปโคฮาลาลรายใหญ่ จ.ชุมพร ร้องรัฐหนุนแหล่งทุน 

โรงงานแปรรูปโคฮาลาล ชุมพร

บริษัท ดีแอนด์แซดฯ ผู้รับสัมปทานโรงงานแปรรูปโคฮาลาลรายใหญ่ จ.ชุมพร ร้องรัฐหนุนแหล่งทุน พร้อมเผยจำนวนโคเข้าเชือดมีน้อย ไม่สอดคล้องกำลังการผลิต

วันที่ 21 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวจังหวัดชุมพรรายงานว่า นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีข่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและดูการบริหารจัดการของโรงงานแปรรูปโคฮาลาลจังหวัดชุมพร ซึ่งปัจจุบันบริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ได้สัมปทานโรงงานดังกล่าว พร้อมรับฟังปัญญาจากผู้ประกอบการ โดยมี นายวรัตม์ มาประณีต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นายสุนทร นิคมรัตน์ นายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตโคฮาลาล และผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ที่โรงงานแปรรูปโคฮาลาล ต.สลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร 

นายไชยา กล่าวว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีเรื่องของการขยายตลาดโคเนื้อ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ในการยกระดับรายได้ของเกษตรกร การตั้งโรงงานชำแหละที่ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐานฮาลาล เพราะต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นการเพิ่มมูลค่าจากการจำหน่ายเฉพาะโคมีชีวิต ซึ่งโรงงานโคฮาลาลที่นี่เป็นที่แรกที่ได้มาตรฐาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมให้การช่วยเหลือเกษตร โดยเฉพาะเรื่องราคา และการเปิดตลาดไปต่างประเทศ

โรงงานแปรรูปโคฮาลาล ชุมพร

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวเป็นโรงฆ่าสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ โค-กระบือ ผลิตเนื้อโคคุณภาพดีเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก มีกำลังการผลิตสูงสุดกว่า 200 ตัวต่อวัน ถือว่าใหญ่และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ปัจจุบัน บริษัท ดีแอนด์แซด คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ได้สัมปทานโรงงานแปรรูปโคฮาลาล จังหวัดชุมพร  ระยะเวลา 30 ปี จากกรมธนารักษ์ ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมโคเนื้อแบบครบวงจร โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 กำลังการผลิต 10-20 ตัวต่อวัน มีเนื้อโครอจำหน่ายในคลังสินค้าจำนวน 43 ตัน แต่พบปัญหาโคต้นน้ำในการแปรรูปเนื้อมีจำนวนน้อย ไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงาน ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตไม่มีต้นทุนเพียงพอในการซื้อโคจากเกษตรกร จึงต้องการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ADVERTISMENT

สำหรับสถานการณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อจังหวัดชุมพร มีผู้เลี้ยงโครวม 6,986 ราย จำนวนโคเนื้อรวม 44,326 ตัว มีการเลี้ยงโคในทุกอำเภอ โดยอำเภอที่เลี้ยงมากที่สุดคือ อ.ท่าแซะ 15,388 ตัว มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตโคเนื้อ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 24 กลุ่ม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 กลุ่ม หากภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริม จะช่วยส่งเสริมศักยภาพการผลิตของโรงงาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โคเนื้อของไทย สนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย