“อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ผนึกพันธมิตรต่อยอด “น้ำตาลบุรีรัมย์” สู่อุปกรณ์การแพทย์

สัมภาษณ์

อ้อยถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ในอดีตใช้ผลิตเป็นพืชอาหารคือน้ำตาลทราย ต่อมาอ้อยมีบทบาทสำคัญในการผลิตพืชพลังงานคือเอทานอล ผลพลอยได้นำไปใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนกากอ้อยใช้ผลิตไฟฟ้า มาถึงยุคอุตสาหกรรม 4.0 อ้อยและน้ำตาลกำลังปรับโฉมก้าวไปอีกขั้น ซึ่ง “อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR กลุ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายาวนานกว่า 50 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนธุรกิจและทิศทางการลงทุนในอนาคต

ทุ่ม 600 ล้านตั้ง “โรงรีไฟน์”

เป้าหมายของแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ผ่านมามุ่งพัฒนาเรื่องไร่อ้อยอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้วัตถุดิบหลัก คาดว่าฤดูการผลิตปี 2560/2561 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณน้ำตาล 350,000-360,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2559/2560 อยู่ที่ 2.9 ล้านตันอ้อย ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ร่วมกับโรงน้ำตาลบุรีรัมย์ 15,000 ครอบครัว บนพื้นที่ 250,000 ไร่ เป็นเกษตรรายย่อยมีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 20 ไร่ต่อครัวเรือน กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ถือว่ามีความโดดเด่นด้านการผลิตวัตถุดิบคุณภาพ โดยมีปริมาณผลผลิตอ้อยต่อไร่เฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานทั่วประเทศถึง 12.7 ตัน/ไร่ และมีเกษตรกรประมาณ 20-30% จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดสามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตสูงถึง 20 ตันต่อไร่ ขณะที่ค่าความหวาน (CCS) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 โดยอ้อย 1 ตันสามารถผลิตน้ำตาลได้สูงถึง 123 กิโลกรัม ขณะที่เฉลี่ยทั่วประเทศไทยอยู่ที่ 110 กิโลกรัมต่อตัน ทั้งนี้ ปี 2560 บริษัทมีผลการดำเนินงานเฉลี่ยประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

เมื่อมีความเข้มแข็งในวัตถุดิบหลัก จึงผลิตผลพลอยได้ต่าง ๆ ตามมา เช่น กากอ้อยนำไปผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) และบุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด (BPP) มีกำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ (MW) เท่า ๆ กัน ซึ่งผลิตเพื่อขายทั้งหมด ส่วนกากน้ำตาล (โมลาส) ขายให้โรงงานผลิตเหล้า

สำหรับฟิลเตอร์เค้กหรือขี้เถ้าน้ำตาลนำไปทำปุ๋ยเคมีอินทรีย์ในนามโรงงานปุ๋ยตรากุญแจ มีปริมาณการผลิต 40,000 ตัน/ปี จำหน่ายให้ชาวไร่อ้อยของกลุ่มในราคาถูก และปีนี้มีแผนลงทุน 393.75 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (refined sugar) กำลังผลิต 1,200 ตัน/วัน คาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรได้เสร็จทันในฤดูการผลิตปี 2561/2562 รวมทั้งมีแผนลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และประหยัดพลังงานในการผลิตอีก 185.72 ล้านบาท

ต่อยอดบรรจุภัณฑ์-อุปกรณ์แพทย์

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด” ขึ้น เพื่อผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ด้านอุปโภคและบริโภค อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากชานอ้อยและวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เช่น จาน ชาม จากชานอ้อย ตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานเฟสแรก มูลค่า 300 ล้านบาท กำลังการผลิต 800,000-1,000,000 ชิ้น/วัน คาดว่าจะเริ่มผลิตจำหน่ายได้ต้นปี 2562 วางแผนตลาดเป้าหมายทั้งภายในประเทศและส่งออก

นอกจากนี้ กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้จับมือกับพันธมิตรโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งทำจากวัตถุดิบชานอ้อย เช่น โถปัสสาวะ และถาดรองสิ่งปฏิกูล สำหรับใช้ในโรงพยาบาล และธุรกิจบริการทางสุขภาพ เพื่อให้สามารถจัดการได้ง่าย แทนที่จะใช้แบบสเตนเลสที่จำเป็นต้องล้างใช้ใหม่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการ คาดว่าจะจัดจำหน่ายได้ในกลางปีนี้ ซึ่งนับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดกำไรสูงสุด

ผุด 2 โรงงานใหม่บุรีรัมย์-สุรินทร์

เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้ขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ จำนวน 2 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 20,000 ตันอ้อย มูลค่าลงทุนแห่งละประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มลงมือโรงงานแรกที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตได้ในปี 2563-2564 และที่จังหวัดสุรินทร์ จะเริ่มก่อสร้างหลังจากทำโรงงานที่ อ.ชำนิแล้วเสร็จ เมื่อโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์จะมีกำลังผลิตรวมประมาณ 70,000 ตันอ้อย

ปัญหาการเปิดเสรี-การคำนวณราคาอ้อย

สำหรับปัญหาเรื่องการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนั้น ทุกอย่างคงจะคลี่คลายในเร็ว ๆ นี้ โดยที่ผ่านมาการใช้ตัวเลขราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอาจจะหยิบยกกันคนละตัว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน แต่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ตอนนี้ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำลังดำเนินการ คงจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดเสรีตอนนี้ คิดว่าเสรีแล้ว และการคำนวณราคาอ้อยที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ควรจะไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมเกษตรทุกชนิด ถ้าเกษตรกรไม่เข้มแข็ง ตัวโรงงานไปไม่ได้อยู่ดี แล้วแต่มุมมอง ถ้าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปิดเสรีเลย โรงงานซื้ออ้อยเท่าไหร่ก็ได้ ของเยอะก็ซื้อต่ำ ของน้อยก็ซื้อแพง แข่งขันเหมือนพืชเกษตรทั่วไป แต่ถามว่ายุติธรรมสำหรับเกษตรกรหรือไม่ ผมว่าไม่แฟร์ แต่สิ่งที่ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลดำเนินการภายใต้ระบบ 70 : 30 ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมถือว่าแฟร์ ถ้าระยะยาว ความยุติธรรม โดยทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานสามารถเดินไปด้วยกันได้ ผมว่าจะทำให้ธุรกิจมีเสถียรภาพมากกว่า”