4จังหวัด ชงครม.สัญจรบุรีรัมย์ 2หมื่นล้าน ดัน22โครงการ “ฮับการแพทย์-ไมซ์ซิตี้” อีสานใต้

กกร. “กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” 4 จังหวัด “นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์” เตรียมชง ครม.สัญจรบุรีรัมย์ อนุมัติงบฯกว่า 20,000 ล้าน 5 ด้าน 22 โครงการ “แหล่งน้ำ-โครงสร้างพื้นฐาน-ค้าชายแดน-ท่องเที่ยว-คุณภาพชีวิต” ดันบุรีรัมย์ “ฮับทางการแพทย์อีสานใต้”-ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมเสนอแผนเชื่อมโยงแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา “ฮับการค้า-ไมซ์ซิตี้อีสานตอนล่าง 1-สร้างโคราช ICD” ส่วน “สุรินทร์” เสนอก่อสร้างสนามบินสุรินทร์-ตั้งศูนย์สุขภาพสู่ AEC-ตั้งเมืองนวัตกรรมอาหารภาคอีสาน-พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์

นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จะมีการเสนอโครงการแก่คณะรัฐมนตรีในรูปแบบของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ทั้งด้านการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนชายแดน เป็นต้น เพื่อเชื่อมโยงสู่เป้าหมาย

สำคัญของแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภาคอีสานใต้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงการเสนอขยายการลงทุนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ให้เป็นสนามบินนานาชาติ ขณะที่จังหวัดนครราชสีมามีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย และการพักสินค้า รวมถึงเป็นเมืองศูนย์ประชุม (MICE City) ซึ่งคาดว่าจะขยายโรงพยาบาลบุรีรัมย์เพิ่ม ในส่วนจังหวัดสุรินทร์มีโครงการโลกของช้าง ที่จะเป็นเมืองที่เกี่ยวกับช้าง รวมไปถึงการดูแลรักษาพยาบาล และการใช้ประโยชน์จากช้าง

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ได้เตรียมเสนอ ครม. ทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภค มีโครงการทำนาแปลงใหญ่ การปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง การทำเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ประปาหมู่บ้าน ประปาท้องถิ่น โดยเฉพาะ อ.ประโคนชัย นางรอง ลำปลายมาศ บ้านกรวด ซึ่งมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว มีการเสนอแผนพัฒนาโครงการแก้มลิงที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในชุมชน 11 อำเภอ การเสนอแนวทางพัฒนาการระบายน้ำในเขตเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีแนวทางจัดการเส้นทางเชื่อมต่อจังหวัดต่าง ๆ เช่น จากจังหวัดชัยภูมิมายังโรงพยาบาลบัวใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต รวมถึงการก่อสร้างเส้นทางสำคัญอำเภอประโคนชัยที่จะเชื่อมต่อกับอำเภอบ้านกรวดเข้าสู่ช่องสายตะกู ซึ่งมีแนวทางยกระดับให้เป็นด่านถาวรเพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าชายแดนในอนาคต ด้านจังหวัดสุรินทร์มีการเสนอถนนเชื่อมต่อกลุ่มจังหวัดทางด้านอีสานใต้ในส่วนจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี และเชื่อมต่อมายังบุรีรัมย์ โดยมีจุดหมายให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย และการพักสินค้า รวมถึงเป็นไมซ์ซิตี้ หรือเมืองศูนย์ประชุม

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะมีการยกระดับการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงวัย รวมถึงการขยายโรงพยาบาลนางรอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมการบริการทางสุขภาพในอีสานใต้กว่า 19 อำเภอ เพราะเกิดสภาวะแออัด นอกจากนี้จะเสนอจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และก่อตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ รวมถึงศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลกในบุรีรัมย์ ที่จะมีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า อีกประเด็นคือการพัฒนาการท่องเที่ยว ห้วยจรเข้มาก และห้วยตลาด รวมถึงการพัฒนาไบก์เลน รอบอ่างห้วยจรเข้มาก และอ่างห้วยตลาด

นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครชัยบุรินทร์) กล่าวว่า ภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.กลุ่มจังหวัด) ได้เตรียมนำเสนอ 6 โครงการเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจร จ.บุรีรัมย์ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นโครงการเร่งด่วนต้องขออนุมัติงบประมาณ แต่ละโครงการจะเข้ามาพัฒนากลุ่มจังหวัดให้สามารถเชื่อมโยงความเจริญเติบโตไปพร้อมกัน ได้แก่ 1.การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา งบประมาณ 60 ล้านบาท 2.การศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ มูลค่า 40 ล้านบาท 3.โครงการสร้างศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 งบประมาณ 1,200 ล้านบาท 4.โครงการศึกษาการก่อสร้างศูนย์รวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง (Korat ICD) งบประมาณ 70 ล้านบาท 5.โครงการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 215 ล้านบาท และ 6.โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรตินครราชสีมา งบประมาณ 82 ล้านบาท

ทั้ง 6 โครงการเป็นโครงการจากภาคเอกชนที่นำเสนอเข้าไป นอกจากนี้ยังมีในส่วนของราชการต่าง ๆ ที่นำเสนอเข้าไปรวมทั้งกลุ่มจังหวัดมีทั้งหมด 22 โครงการ 5 ด้าน จำนวน 21,051,242,510 บาท แยกเป็น 1.โครงการด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ 4,045,650,000 บาท 2.โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน 11,815,670,000 บาท 3.โครงการด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน 1,370,000,000 บาท 4.โครงการด้านการท่องเที่ยว 496,344,000 บาท 5.โครงการด้านคุณภาพชีวิต 3,323,578,510 บาท

ด้านนายธีระศักดิ์ ธีระวาณิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์มีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ลดหย่อนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนทางด้านโรงงานชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ การบิน รถยนต์ และอุปกรณ์กีฬา โดยเฉพาะด้านสปอร์ตซิตี้และการท่องเที่ยวจะได้รับสิทธิประโยชน์มาก ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่มุ่งเน้น

ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเอื้ออำนวยให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเมืองบุรีรัมย์กำลังเปลี่ยนแปลง มีการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ต่างจากอดีตที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านเกษตร ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เสนอโครงารนวัตกรรมหม่อนไหม เป็นการนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนสามารถใช้ได้ เช่น มาสก์หน้าหม่อนไหม เป็นต้น เพื่อต่อยอดเกษตรกรที่ปัจจุบันนำมาผลิตเป็นเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะครอบคลุมชมรมผู้เลี้ยงหม่อนไหมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการเลี้ยงค่อนข้างมาก