พิโกไฟแนนซ์ คุย “กองทุนEU”ให้กู้ 600 ล้าน

ชมรมพิโกไฟแนนซ์” เผยมี “กองทุนร่วมจากยุโรป” เสนอปล่อยกู้ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท พร้อมเผยผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาสำนักงานที่ดินบางแห่งไม่จดจำนองให้ เหตุกระทรวงการคลังไม่ทำหนังสือเวียนแจ้งสำนักงานที่ดิน หวั่นก้าวล่วงหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมเตรียมจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ผนึกกระทรวงการคลัง-ธนาคารออมสินหารือหาทางออกปัญหาขาดแหล่งเงินทุน

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต ประธานชมรมพิโกไฟแนนซ์แห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ทางชมรมพิโกไฟแนนซ์แห่งประเทศไทยจะมีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 เพื่อหารือถึงความชัดเจนเรื่องของแหล่งเงินทุน และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์)

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ได้แก่ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน กระทรวงการคลัง รองผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง และธนาคารออมสิน ซึ่งจะมีกองทุนร่วมจากประเทศในแถบยุโรปเข้าฟังการประชุม และจะเสนอการให้กู้ยืมเงินสำหรับชมรมพิโกไฟแนนซ์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกู้เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะเริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการขาดแหล่งเงินทุน

ส่วนการช่วยเหลือสมาชิกได้รวบรวมเงินทุนขั้นต้น 5 ล้านบาท ผ่านการตั้งกองทุนเพื่อปล่อยกู้ในกลุ่มสมาชิก เริ่มระดมทุนตั้งแต่ 1 เมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 โดยกรรมการสมาคมลงขันรายละ 1 แสนบาท หรือมากกว่านั้น และเป็นการปล่อยกู้แบบไม่มีหลักประกัน แต่ห้ามกรรมการชมรมลงนามกู้ และให้กรรมการชมรมลงนามค้ำประกัน เพื่อปล่อยกู้ให้สมาชิกได้รายละ 500,000 บาท

ทั้งนี้ หากจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศไทยด้วยกระบวนการพิโกไฟแนนซ์ได้ จะต้องดำเนินการคือ

1.ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามแนวทางกระทรวงการคลังโดยเคร่งครัดเรื่องอัตราดอกเบี้ย 2.ลูกค้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาชดใช้ตามเวลา 3.กระทรวงการคลังต้องจัดการเรื่องนโยบายกับธนาคารออมสิน ให้สามารถเดินเรื่องและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะในปัจจุบันยังติดปัญหาที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของหน่วยงานราชการ

ปัจจุบันผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ได้รับการอนุญาตแล้ว 340 ราย และ 201 รายที่เปิดดำเนินการแล้ว มีปัญหาหลักในการดำเนินการคือ สมาชิกส่วนหนึ่ง

ไม่สามารถจดจำนองได้ เนื่องจากสำนักงานที่ดินบางสำนักงานไม่จดจำนองให้ โดยมีเหตุผลว่าไม่มีหนังสือเวียนมาในแต่ละสำนักงานของสำนักงานที่ดิน ขณะที่สำนักงานที่จดจำนองต้องใช้ดุลพินิจประกอบหลักการในราชกิจจานุเบกษา ฉะนั้นกระทรวงการคลังผู้รับผิดชอบนโยบายเกี่ยวกับพิโกไฟแนนซ์จึงไม่สามารถทำหนังสือเวียนแจ้งสำนักงานที่ดินได้ เพราะจะเป็นก้าวล่วงหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน

อย่างไรก็ตามพิโกไฟแนนซ์สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ในระดับหนึ่ง เพราะใช้เอกสารน้อย เข้าถึงง่าย และผู้ประกอบการพิโกคือมีจุดเด่นเข้าถึงชุมชน ผ่านการเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชน ให้คำปรึกษา ตลอดจนดูแลด้านเอกสาร เช่น การเสนอให้ลูกค้าทำบัญชีรายจ่ายในครัวเรือนก่อนยื่นกู้ เพื่อให้สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ในกลุ่มลูกค้าได้

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนมีนาคม 2561 ว่า มีการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 458 ราย ใน 66 จังหวัด และมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 331 ราย

ใน 62 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 201 ราย ใน 54 จังหวัด และมีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 165 ราย ใน 50 จังหวัดทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 11,853 บัญชี รวมเป็นเงิน 313.34 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 26,435.67 บาทต่อบัญชี

ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 6,337 บัญชี เป็นเงิน 199.46 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.66 ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 5,516 บัญชี เป็นเงิน 113.88 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.34 ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีทั้งสิ้น 3,679 บัญชี คิดเป็นเงิน 100.99 ล้านบาท สำหรับ

สินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 313 บัญชี คิดเป็นเงิน 9.43 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.34 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 118 บัญชี คิดเป็นเงิน 4.00 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.96 ของสินเชื่อคงค้างรวม