
5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เร่งศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1” รุกแก้ 10 ปมปัญหาเร่งด่วน เชื่อมโยงการค้า การลงทุน การคมนาคม 5 จังหวัด “อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์” ชี้โจทย์ใหญ่ “กฎหมาย” หลายตัวเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน
นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1

ประกอบด้วยจังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เพื่อพัฒนาพื้นที่ไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 ขณะเดียวกันมีแผนการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือที่มีอยู่แล้ว ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง โดยกำหนดระยะเวลาการศึกษา 90 วัน
เบื้องต้น จากการประชุมล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1ฯ ร่วมกับผู้แทนภาครัฐและเอกชนจากพื้นที่ 5 จังหวัด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้กล่าวถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนร่วมกัน 10 ประการ ได้แก่ 1) ปัญหาสังคมผู้สูงวัย เนื่องจากภาคเหนือเป็นภาคแรกที่ประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานสูง รัฐควรให้สิทธิในการยกเว้นภาษีการจ้างงานผู้สูงอายุ และสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายทางบัญชีได้ 2-3 เท่าของอัตราจ้างงานให้กับกลุ่มผู้ลงทุน/สถานประกอบการที่จ้างงานผู้สูงอายุในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2) การเคลื่อนย้ายแรงงานและขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ รัฐควรส่งเสริมการ Re-skill, Up skill และ New skill ให้กับประชาชน และให้สิทธิพิเศษในด้านการลงบันทึกค่าใช้จ่ายทางบัญชี 2-3 เท่า และสิทธิทางด้านภาษีกับประชาชนและสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อเป็นการให้สิทธิพิเศษและกระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และมีแรงงานฝีมือเกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
3) ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และพื้นที่ชลประทานที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร แก้ไขปัญหาน้ำแล้งโดยไม่สร้างเขื่อน สร้างระบบขนส่งน้ำเชื่อมโยง คู คลอง แม่น้ำ หนอง บึง แก้มลิง และกว๊านทะเลสาบ เข้าด้วยกัน 4) การแก้ไขปัญหา PM 2.5
5) ปัญหาการถือครองที่ดิน 6) ปัญหาข้อบังคับกฎหมายที่มีมาก และซับซ้อนจนเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน การแยกแยะเส้นทางการเงิน-กลุ่มเงินสีเทา การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานต่อการบังคับใช้กฎหมาย เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนมาก
7) ปัญหาเส้นทางที่แคบและอันตราย ทำให้ระบบการขนส่งสินค้าต้นทุนสูง ทำให้สินค้ามีราคาสูงไปด้วย 8) ปัญหาการพัฒนาพันธุ์พืช สิทธิบัตรต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนา
9) ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ค่าครองชีพต่ำ และ 10) ปัญหาการพัฒนาทิศทางการตลาดการค้าการลงทุนที่ไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง จะมีการใช้ข้อตกลงทางการค้าในเส้นทางแม่น้ำโขง ให้เป็นเส้นทางสากลเพื่อเป็นแต้มต่อสิทธิภาษี เกิดการพัฒนาเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทุกช่องทาง และใช้กลไกตลาดในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการเงิน เทคโนโลยีนวัตกรรมและการประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ
การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้ต้นทุนของการประกอบการค้าลดลง โดยเฉพาะเบี้ยปรับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือความล่าช้าจากการพิสูจน์หลักฐานทางการเงินต่าง ๆ และการกำหนดทิศทางการตลาดที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนทราบถึงบทบาทหน้าที่ต่อพื้นที่ เช่น การขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) เป็น Creative Lana & Digital
ส่วนภาคเหนือตอนล่าง 1 จะกำหนดทิศทางทางการตลาดไปทางด้านไหน จะเป็น Supper Food หรือการผลิตยา จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ภายใต้นวัตกรรมแล้วมาเชื่อมโยงทั้งสองเขตการค้าด้วยกัน
นายประเสริฐกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัด พบว่าจังหวัดตากมีความต้องการจะเป็นศูนย์กลางการค้าระเบียงเศรษฐกิจและมหานครแห่งความสุข จังหวัดสุโขทัยมีความต้องการจะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวมรดกโลก
จังหวัดอุตรดิตถ์มีความต้องการจะเป็นเมืองเกษตรปลอดภัยและการค้าชายแดน จังหวัดเพชรบูรณ์มีความต้องการจะเป็นเกษตรปลอดภัยและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีมรดกโลกศรีเทพเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
ส่วนจังหวัดพิษณุโลกมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้อีกหลายประการเนื่องจากเพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น MICE CITY แห่งที่ 2 ของประเทศไทย และเป็น Logistic Hub, Smart City และอุตสาหกรรมนวัตกรรมสมุนไพร รวมถึงสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นทั้ง Wellness และ Medical Hub ของภาคเหนือตอนล่าง 1
และเมื่อพิจารณาทางด้านการขนส่ง พบว่าทางอากาศจะมีเพียงจังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดเดียวที่ไม่มีการขนส่งทางอากาศรองรับ จังหวัดตากและจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่มีการขนส่งทางราง ซึ่งจังหวัดตากจะมีโครงการเชื่อมต่อทางรางจากแม่สอด จังหวัดตากผ่านไปยังจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายโกวิทย์ ทรงคุณ ประธานหอการค้าจังหวัดสุโขทัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การวางแผนในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 1 จะต้องมีการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การคมนาคมให้ได้ภายใน 5 จังหวัดก่อน จึงจะสามารถไปเชื่อมกับจังหวัดกลุ่มภาคเหนือตอนบนและตอนล่างเพื่อรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือได้