
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“โกโก้” แม้ว่าไม่ใช่พืชเศรษฐกิจไทย เพราะไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน แต่ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสมสามารถปลูกโกโก้ได้ดี ช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมามีความพยายามนำโกโก้ไปแปรรูป และได้รับรางวัลระดับโลก
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณเส่ง” นายสนธิชัย เกรียงอุดม และ “คุณปุ้ม” นางสาวจีรนุช ธรรมอินทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีนทูบาร์ ช็อกโกแลต จันทบุรี จำกัด เจ้าของ (Bean to Bar) แบรนด์ช็อกโกแลตจาก จ.จันทบุรี ได้รับรางวัล CACAO OF EXCELLENCE GOLD 2023 เป็นแบรนด์แรกของไทยติดอันดับ 1 ใน 50 ของโลก ระดับเหรียญทอง และรางวัลงาน CACAO 2024 ณ นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงทิศทางการตลาดโกโก้ในไทย และต่างประเทศ
สู้ 7 ปีโตก้าวกระโดด
“คุณเส่ง” เล่าว่า เริ่มทำธุรกิจโกโก้มาประมาณ 6-7 ปีแล้ว จากการรวบรวมหาเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกโก้โก้อยู่แล้ว และเกษตรกรรายใหม่ เพื่อรับซื้อมาแปรรูป โดยส่งเสริมให้ปลูกสายพันธุ์ลูกผสมชุมพร 1 ที่เหมาะกับสภาพของพื้นที่และอากาศของจันทบุรี และให้ผลผลิต เกรด A น้ำหนักต่อลูก 350 กรัมขึ้นไป ให้เมล็ดมากน้ำหนักดี มีกลิ่นหอม ราคาดี ตลาดต้องการ
แรก ๆ คุณปุ้มเป็นเบาหวาน ชอบทานช็อกโกแลตแต่ไม่มีช็อกโกแลต 100% ในตลาด ครอบครัวเราทานอาหารคีโต จึงคิดแปรรูปโกโก้เป็นช็อกโกแลตที่ปราศจากน้ำตาล โดยทำตลาดในกลุ่มรักสุขภาพ มีลูกค้าให้ความสนใจสั่งเข้ามามาก จึงนำผลิตภัณฑ์เมนหลักที่ลูกค้าสนใจออกมาทำตลาด จำหน่ายเองและรับจ้างผลิต (OEM) ให้ลูกค้าสร้างแบรนด์เอง ทำให้มีการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ
นอกจากนี้ มีผลิตภัณฑ์อื่น เช่น โกโก้เครื่องดื่ม ช็อกโกแลตก้อน ผงช็อกโกแลต ช็อกชิพ ผลไม้เคลือบช็อกโกแลต ช็อกโกแลตบาร์รสชาติต่าง ๆ เราไม่ใช่ “นายทุน” จึงทำตามออร์เดอร์ผลิตไปขายไป และไม่เคยหยุดขวนขวายเพื่อเรียนรู้ เป้าหมายคือการนำช็อกโกแลตสู่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต่อมามีงานวิจัยเรื่องโกโก้ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ระบบสมอง เผยแพร่ไปทางโซเชียล ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบีนทูบาร์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ไม่ใช่เฉพาะในวงการอาหารคีโตแต่เป็นวงการคนรักสุขภาพ จากนั้นเริ่มสร้างโปรไฟล์ให้เกิดความเชื่อมั่นกับลูกค้า ด้วยการออกบูท จำหน่ายสินค้าตามอีเวนต์ต่าง ๆ การส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดในระดับประเทศและล่าสุดเป็นการประกวดระดับโลก
“ผลผลิตโกโก้ที่ใช้ปีละ 40-50 ตัน หรือมากกว่าในช่วงพีก ตลาดของบีนทูบาร์เกือบทั้งหมดเป็นตลาดภายในประเทศ เพียง 1% เป็นตลาดประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นแบบลูกค้าเข้ามาซื้อแล้วถือกลับไป สินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพและกลุ่มครอบครัว ที่เห็นว่าช็อกโกแลตเป็น Super Food”
คาเคา โกโก้ ช็อกโกแลต
คุณปุ้มบอกว่า ผลิตภัณฑ์ได้จากเปลือก เมล็ด และผงโกโก้นี้เองนำไปทำผลิตภัณฑ์ กว่า 10 ผลิตภัณฑ์ เช่น เมล็ดโกโก้แห้ง ช็อกโกแลตผสมอัลมอนด์ คราฟต์ช็อกโกแลตจากเมล็ดสูตรคีโต เจ คาเคานิบส์ ช็อกชิพไร้น้ำตาล (เมล็ดโกโก้กะเทาะเปลือก) ผงช็อกโกแลตแท้ 100% คีโตเจพร้อมชง คราฟต์ช็อกโกแลตทำจากเมล็ดโกโก้ โกโก้แมส 100% เนื้อช็อกโกแลตแท้
ชาโกโก้ที่ผลิตจากเปลือกของเมล็ดโกโก้ ไร้แคลอรี มีกลิ่นหอม ดาร์กช็อกโกแลต 70% ผสมอัลมอนด์ สตรอว์เบอรี่ รสมินต์ รสชาไทย ดาร์กช็อกโกแลตหวานแต่ไร้น้ำตาล คราฟต์ช็อกโกแลตจากเมล็ดโกโก้ ดาร์กช็อกโกแลต 100% ไม่มีน้ำตาล ไม่มีสารเติมแต่ง ทำจากเมล็ดโกโก้ ด้วยรสชาติอร่อยแบบเรียบง่าย เป็นทางเลือกสำหรับผู้รักสุขภาพที่ต้องการลดหรืองดน้ำตาล แต่ร่างกายขาดช็อกโกแลตไม่ได้ มีหลากหลายสูตร หลายรสชาติ รวมทั้งสูตรคีโตที่ใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลและสูตรเพื่อคนรักสุขภาพ
คว้ารางวัลผลิตภัณฑ์ระดับโลก
คุณเส่งเล่าว่า ผลิตภัณฑ์บีนทูบาร์ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 ปีซ้อนจาก Thailand Craft Chocolate Festival (TCCF) ปี 2566 บริษัท ทีซีซีเอฟ จำกัด จึงได้รับคัดเลือกไปประกวดและได้รับรางวัล Cacao of Excellence Gold Award 2023 โดยเป็น 1 ใน 50 ระดับโลก ระดับเหรียญทอง จากการประกวดผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลตจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีผลิตภัณฑ์จากตัวอย่างที่ส่งเข้าประกวด 200 กว่าตัวอย่าง และกว่า 100 ประเทศ
จัดโดย World Cacao Foundation และ Cacao Excellence เป็นครั้งที่ 12 ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการมอบรางวัลในงาน CACAO 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าโกโก้และช็อกโกแลตขนาดใหญ่ บีนทูบาร์ถือเป็นผลิตภัณฑ์และแบรนด์แรกจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัล หลักเกณฑ์การประกวดเมล็ดโกโก้ 2 เรื่องหลัก คือ มาตรฐานการส่งออก และคุณสมบัติที่ดี รสชาติ ปริมาณไขมัน กลิ่นสี การได้รับรางวัลทำให้ประเทศไทยถูกปักหมุดในแผนที่โกโก้โลก เป็นความภาคภูมิใจ และมีผลต่อเนื่องที่ตลาดต่างประเทศให้ความสำคัญ มีคู่ค้าสนใจโกโก้ไทย โดยเฉพาะโซนยุโรป
ขายแฟรนไชส์ Thaiflex
คุณเส่งบอกว่า หลังจากได้รับรางวัล และออกอีเวนต์งานต่าง ๆ มีผู้สนใจติดต่อมาขอซื้อ ดังนั้นปีนี้ตั้งเป้าเปิดรับลูกค้าแฟรนไชส์ จำนวน 40 ราย กลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าภายในประเทศ ตั้งราคาค่าแฟรนไชส์ไว้ 500,000 บาท/ราย จะเปิดตัวงาน Thaiflex วันที่ 28 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์บางตัวยังมีปัญหาการขอรับรองมาตรฐาน อย. โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเมล็ดโกโก้ยังไม่ได้ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2566 เช่น ชาโกโก้ที่มาจากเปลือก การขอ อย.ชาต้องมาจากใบ
นอกจากนี้ น้ำโกโก้ยังไม่ชัดเจนว่าโกโก้เป็นไม้ผลหรือผลไม้ และบางอย่างต้องใช้ผลวิจัย ซึ่งเกินกำลังของผู้ผลิต ทำให้เสียโอกาสในการทำตลาด ส่วนตลาดต่างประเทศในโซนยุโรปจากการออกบูทที่อัมสเตอร์ดัม มีลูกค้า B to B ขอคอนแทร็กต์มา แต่ยังติดปัญหา 2 เรื่อง คือ การหาคู่ค้าที่เปอร์เฟ็กต์เป็นเจ้าของตลาดสินค้า มีเอเยนซี่นำเข้ามาเพื่อกระจายสินค้าไปประเทศอื่น ๆ และการขนส่งผ่านทางทะเลแดง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังมีปัญหาอยู่
การขึ้นราคาของโกโก้ปีนี้จะกระทบในตลาดต่างประเทศมากกว่า เพราะเป็นตลาดผู้ผลิตขนาดใหญ่ เมื่อสต๊อกเก่าหมด และสัญญาส่งของหมด จะเริ่มตกลงราคากันใหม่ สำหรับเมืองไทยจะมีผลในปีหน้าเพราะมีตลาดซื้อขายไว้ล่วงหน้าและสต๊อกยังมี แต่คาดว่าต้องขึ้นราคาแน่นอน และบีนทูบาร์ได้เตรียมแผนเพิ่มวัตถุดิบไว้พร้อมอยู่แล้ว หากทำตลาดได้เพิ่มขึ้นจากคู่ค้าที่เป็นแฟรนไชส์
“ตลาดต่างประเทศยังมีน้อย ผู้ผลิตและแปรรูปอย่างครบวงจร น่าจะมีไม่เกิน 10 รายในประเทศไทย เพราะต้องใช้โนว์ฮาวตั้งแต่การปลูก กระบวนการผลิต และการตลาดที่ลงตัวจึงจะไปรอด ที่สำคัญโกโก้ยังไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ ยังมีตลาดไม่ชัดเจน หน่วยงานภาครัฐไม่ได้สนับสนุนในเชิงพาณิชย์และส่งเสริมให้ปลูกหรือแปรรูป เหมือนทุเรียน มังคุด ยังต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบอยู่”