รมช.พาณิชย์เปิดเวทีแก้ “ลำไย” ราคาตกต่ำหนักเร่งเดินหน้า 3 มาตรการเยียวยาเกษตรกรภาคเหนือ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (3 สิงหาคม 2560) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมหารือสถานการณ์การผลิตและการตลาดลำไยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สมาคมผู้ส่งออก เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ชมรมกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงใหม่ เข้ารวมประชุมร่วมหารือ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวทางและมาตรการแก้ปัญหาผลผลิตลำไยของภาคเหนือในปี 2560 ได้วางมาตรการเร่งด่วน 3 ส่วน คือ เร่งกระจายผลผลิตลำไยสดไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย ในการช่วยเหลือระบายลำไยไปในทุกอำเภอ พร้อมกับประสานกับผู้ประกอบการการธุรกิจห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด จากเดิม 1,000 ตัน เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ตัน ขณะเดียวกันยังได้ประสานไปยังกองทุนหมู่บ้านจำนวนราว 1 หมื่นแห่ง โดยล่าสุดมี 3,000 แห่งที่พร้อมจะรับกระจายผลลำไยสดแล้ว

ขณะเดียวกันจะเร่งผลักดันผลผลิตลำไยสดราว 50-60% เข้าสูกระบวนการอบแห้ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งประสานโรงงานลำไยอบแห้งในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนทยอยเข้ามามากขึ้น ในส่วนของตลาดอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อลำไยสดช่อ ซึ่งปีนี้เกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากอินโดนิเซียมีมาตรการกีดกันทางการค้ากับผลไม้จากทุกประเทศ และเพิ่งเปิดให้มีการนำเข้าได้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ดังนั้น มาตรการระยะยาวจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นฤดูกาล พร้อมหาตลาดใหม่ในการส่งออกผลลำไยสดให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงตลาดเดียว

ด้านนายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิตย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ผลผลิตลำไยของภาคเหนือปี 2560 มีปริมาณค่อนข้างมาก และปัจจุบันลำไยกลายเป็นสินค้าที่ไม่มีความโดดเด่น เนื่องจากหลายพื้นที่ก็สามารถปลูกได้ โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ที่มีลำไยออกในเดือนตุลาคม-เมษายน มีผลผลิตที่สามารถออกได้เกือบตลอดทั้งปี ขณะที่ในปีนี้ตลาดจีนซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อลำไยสดของภาคเหนือ ประสบกับสภาวะอากาศที่ค่อนข้างร้อนในช่วงนี้ ทำให้อัตราการบริโภคลำไยสดลดลงอย่างมาก

สำหรับตลาดอินโดนีเซียที่เป็นตลาดรับซื้อลำไยสดช่อ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของภาคเหนือ ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าผลไม้ทุกประเภทจากทุกประเทศ ทั้งนี้เดิมอนุญาตให้มีการนำเข้าลำไยสดจากไทย 500 ตู้คอนเทนเนอร์ ปัจจุบันเหลือเพียง 20 ตู้เท่านั้น ประกอบกับในปีนี้อินโดนิเซียเพิ่งอนุญาตให้สามารถนำเข้าลำไยสดจากไทยได้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 นับว่าล่าช้าอย่างมาก ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกไปแล้วเป็นจำนวนมาก และเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาล ราคาจึงตกต่ำอย่างมาก


ทั้งนี้การแก้ปัญหาดังกล่าว อยากเสนอให้รัฐบาลเร่งเจรจากับรัฐบาลอินโดนิเซียให้แยกลำไยออกจากตะกร้ารวมเพื่อปล่อยให้เป็นการค้าเสรี หรืออาจทำข้อตกลงให้มีการเปิดโควต้าภายในช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อให้ราคาลำไยสดเป็นตัวกำหนดราคานำตลาดลำไยอบแห้ง รวมถึงต้องเพิ่มสัดส่วนในการผลิตลำไยนอกฤดูให้มากขึ้นในสัดส่วน 60-70% และลดสัดส่วนลำไยในฤดูเหลือเพียง 40% แทนสัดส่วนเดิมคือ ลำไยในฤดู 60% และลำไยนอกฤดู 40%