ปั้นเชียงใหม่ผุดพิพิธภัณฑ์การบินระดับอาเซียน ปลุกกองบิน 41 กระตุ้นท่องเที่ยวอากาศยาน

โปรโมตเชียงใหม่ แจ้งเกิดพิพิธภัณฑ์การบินระดับอาเซียน โชว์เครื่องบินประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าในระดับนานาชาติ 28 ลำ บูมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอากาศยานรองรับนักท่องเที่ยวและกระตุ้นกิจกรรมด้านการบินในภูมิภาค กองบิน 41 ขานรับเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย จับมือชมรมกิจกรรมอากาศยานเชียงใหม่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวในเขตทหาร กิจกรรมถ่ายภาพอากาศยาน พร้อมเตรียมจัดงานใหญ่ “Lanna Air Festival” ปลายปี 2561 พร้อมต่อยอดจัดแอร์โชว์ระดับนานาชาติในอนาคต

นาวาอากาศเอก จารุวัฒน์ วัดละเอียด รองผู้บังคับการกองบิน 41 เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตทหารนั้น ทางกองทัพอากาศก็มีนโยบายที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ อันจะเป็นแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอากาศยาน (Aviation Tourism) ในหน่วยทหารแบบบูรณาการและยั่งยืน ที่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้ามาเที่ยวชมเพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ และเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างพลเรือนกับทหารให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

สอดคล้องกับล่าสุดที่ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 ได้ริเริ่มกำหนดแผนงานที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อากาศยานในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะได้ส่งเสริมและสนับสนุนต่อไป ซึ่งพิพิธภัณฑ์อากาศยานแห่งนี้ จะเป็นสิ่งที่ได้สะท้อนสิ่งที่วีรบุรุษได้ใช้ในการประกอบวีรกรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ชนชั้นลูกหลานได้ระลึกถึง และจะเป็นการประกาศให้ผู้มาเยือนได้ทราบถึงเกียรติคุณของกองทัพอากาศ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ด้านนาวาอากาศตรี คำรณ ร้องกาศ ผู้ช่วยประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 กล่าวว่า ทางคณะกรรมการชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 หรือ TANGO ได้เห็นพ้องร่วมกับชมรมกิจกรรมทางอากาศเชียงใหม่ (Chiang Mai Aviation Activity Club) และกลุ่มช่างภาพอากาศยานไทย ว่าสถานที่ของชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 สามารถพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์อากาศยานของภาคเหนือที่มีความพร้อมและสมบูรณ์มากที่สุดในอาเซียน เนื่องจากมีอากาศยานที่อยู่ในครอบครองจำนวนถึง 28 ลำ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าและควรจดจำในด้านการบินของประเทศ

ดังนั้นจึงได้ริเริ่มดำเนินกิจกรรมพัฒนาภูมิทัศน์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 ในกิจกรรม Tango Big Cleaning Day 2018 พร้อมกันนั้นจะได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์แผนงานในระยะยาวในการพัฒนาไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์การบินของภาคเหนือ รวมถึงช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเยาวชน ผู้สนใจด้านการบิน นักท่องเที่ยว ตลอดจนสาธารณชนที่สนใจได้มาเรียนรู้ และร่วมอนุรักษ์สินทรัพย์ที่ทรงคุณค่านี้ของประเทศ อันจะส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในเขตทหารของกองทัพอากาศ สอดคล้องกับแนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ อันจะเป็นแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในหน่วยทหารแบบบูรณาการและยั่งยืน ประการสำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอากาศยานของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ

ด้านนายอาคม สุวรรณกันธา ประธานชมรมกิจกรรมทางอากาศเชียงใหม่ กล่าวว่า ชมรมกิจกรรมทางอากาศเชียงใหม่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้รักการบินและอากาศยานในพื้นที่ และต้องการประชาสัมพันธ์ให้เกิดกิจกรรมที่เกิดประโยชน์เชิงการรับรู้ความสำคัญเกี่ยวกับการบินและอากาศยานในพื้นที่ ซึ่งจะสอดคล้องกับการขยายตัวของธุรกิจการบินที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในอนาคต และส่งเสริมให้เยาวชนในประเทศไทยได้เข้าถึงและเกิดแรงบันดาลใจในเรื่องของด้านการบินในอนาคต

“ชมรมฯ จึงได้ร่วมกับชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 และกลุ่มช่างภาพอากาศยานไทย (TAPG) จัดกิจกรรมพัฒนาภูมิทัศน์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 ก่อนที่จะเตรียมที่จะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องอีก คือ กิจกรรมอบรมการถ่ายภาพเครื่องบิน Vintage Aviation Portrait Workshop 2018 @Tango ในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 หลังจากนั้นจึงจะได้จัดงาน Lanna Air Festival 2018 ณ สนามบินสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพ สร้างเครือข่ายด้านธุรกิจการบิน ก่อนยกระดับกิจกรรมแสดงอากาศยานในระดับนานาชาติในอนาคต อันจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านธุรกิจการบินในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านการผลิตบุคลากร และเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต”

นายอาคม กล่าวต่อว่า เป้าหมายของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้เกิดส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงการบิน-อากาศยานของภาคเหนือให้มีความยั่งยืน รวมถึงได้ส่งเสริมให้เยาวชนในประเทศไทยได้เข้าถึงและมีแรงบันดาลใจในเรื่องของด้านการบิน นอจากนั้นจะเป็นแนวทางในการระดมทุนเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องบินที่เป็นของกองทุนมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย และสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อากาศยานภาคเหนือในระดับนานาชาติต่อไป

สำหรับชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41 เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 จวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลา 26 ปี โดยมี นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน เป็นประธานกรรมการ มีวัตถุประสงค์ในการบูรณะ ฟื้นฟู อนุรักษ์ไว้ซึ่งอากาศยานในอดีตและที่ปลดประจำการแล้วในทุกด้าน เพื่อให้สามารถนำกลับมาทำการบินได้ในภาวะฉุกเฉิน อีกทั้งเป็นประโยชน์ทางด้านประวัติศาสตร์การบิน เป็นแหล่งวิทยาการในการค้นคว้าศึกษาในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการบินของอากาศยานในอดีต เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาอากาศยานของประเทศต่อไป