คุยกับ “ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” ปธ.อุตฯชลบุรี ถอดบทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ดสู่ EEC

สัมภาษณ์

ขณะที่ข่าวความเคลื่อนไหวในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังครึกโครม แต่ในมุมกลับกัน นักธุรกิจในพื้นที่อย่าง “ดร.สาโรจน์ วสุวานิช” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กลับฉายภาพอีกมุมให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังอย่างน่าสนใจ

Q : ส.อ.ท.ชลบุรีเตรียมรับ EEC

สิ่งที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ ปลุกระดมและให้ข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด เวลานี้เป็นเรื่องของนามธรรมทั้งหมด อะไรที่เป็นรูปธรรม ณ เวลานี้ยังไม่ชัด เรื่องโครงสร้าง รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ตอนนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เราในฐานะภาคเอกชนต้องฟัง ภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มอะไร

เราก็เชื่อ ถ้าสมมุติว่าโครงการ EEC เกิดขึ้นได้จริง ๆ พวกเราต้องตื่นตัวและพร้อมร่วมเดินไปกับนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs อยากจะบอกให้เตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้เราไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่แท้จริง เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. EEC ยังไม่คลอดออกมานโยบาย EEC ถือเป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งขาดเรื่องความต่อเนื่อง

นวัตกรรม เทคโนโลยี โดยอีสเทิร์นซีบอร์ดยุคนั้น รัฐบาลช่วยทำโครงสร้างพื้นฐาน และบอกว่าคนไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติที่มาลงทุน แต่จริง ๆ ไม่ได้ตกมาถึงคนไทย และทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะมาปลุก 3 จังหวัดในเรื่อง EEC เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ต้องจดจำบทเรียนจากอดีต ควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีต้องเป็นของคนไทยจริง ๆ

Q : ความเคลื่อนไหวทุนต่างชาติ

ต่างชาติส่วนใหญ่ที่ลงทุนในพื้นที่อยู่แล้ว ก็ไม่ได้กระตือรือร้นเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่ทำอุตสาหกรรมเดิมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว แต่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่รัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม อย่างญี่ปุ่นปกติมาลงทุน ส่วนหนึ่งจะมีซัพพลายเออร์ตามมาด้วย ตรงนั้นจะเห็นภาพเตรียมกว้านซื้อที่ดิน เตรียมลงทุน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเลย

ปกติก่อนต่างชาติจะมาลงทุน จะส่งทีมมาสำรวจก่อน โดยขอให้ภาครัฐเชิญซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องไปหารือว่ามีศักยภาพพร้อมผลิตวัตถุดิบป้อนให้แค่ไหน อย่างแอร์บัสที่จะมาทำศูนย์ซ่อมเครื่องบิน

ยังไม่ได้เชิญไปคุยว่า นักอุตสาหกรรมทางชลบุรีมีความสามารถ มีความพร้อมจะทำได้หรือไม่ มีใครสนใจ อย่างน้อยได้สื่อสารออกไป แต่ตอนนี้ทุกอย่างเงียบไปหมด ยังไม่ได้รับสัญญาณเหล่านั้น

อย่างรถยนต์ไฟฟ้า ผมยังไม่เห็นค่ายไหนมาลงเป็นเรื่องเป็นราว แต่อนาคตเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ เมื่อโลกเปลี่ยน แต่ยังไม่มารวดเร็ว เท่าที่พูดคุยกับคนในญี่ปุ่นเองบอก ถ้าเปลี่ยนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทันที คนจะตกงาน 2 ล้านกว่าคน เมืองไทยหลายกลุ่มจะได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง ประเทศที่มีหิมะตก ในรถยนต์ต้องมีฮีตเตอร์ให้ความร้อน แต่ตอนนี้ไม่สามารถใช้แบตเตอรี่ทำฮีตเตอร์ได้ อนาคตอาจเป็นไปได้ แต่ยังไปไม่ถึงตรงนั้น

Q : คิดว่ารัฐมาถูกทางหรือไม่

ผมว่าสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้มาถูกทางแล้ว ถ้าเมื่อก่อนไม่ทำอีสเทิร์นซีบอร์ดก็ไม่มีวันนี้ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน 3 จังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีอะไรเลย

ตอนนั้นรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีดำริว่า ปี 2525 อยากจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็นเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรม แนวคิดตรงนี้ถึงได้มีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมา ปรับโครงสร้าง สร้างท่าเรือ สร้างรถไฟ จากวันนั้นจนถึงวันนี้เห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าวันนั้นไม่มีโครงการคงจะยังเป็นเกษตรอยู่

Q : ทุกคนรอ พ.ร.บ. EEC คลอด

ตอนนี้นักลงทุนยังไม่ลงทุน ตราบที่ร่าง พ.ร.บ. EEC ยังไม่คลอด ทุกภาคส่วนแม้ข้าราชการผู้ปฏิบัติก็รอกฎหมาย เราก็ยังกลัว ๆ กล้า ๆ เพราะบางเรื่องหากปฏิบัติไปแล้วมีอะไรเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ไม่รับผิดชอบ

ทุกวันนี้จึงยังเงียบ อย่างที่จังหวัดมีการจัดประชุมสัมมนาก็ดูคึกคัก แต่เมื่อเสร็จแล้วก็กลับไปสู่ที่เดิม เช่น รถไฟความเร็วสูง ทางจังหวัดคิดว่าภายในปีนี้จะเซ็นสัญญา และจะลงมือก่อสร้างได้ แต่ทุกคนรอดูสิ้นปีก่อน ถ้าเกิดก่อสร้างเป็นรูปธรรมจริง ผมเชื่อว่าเม็ดเงินต้องมาลง เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต้องสะพัดขึ้นมาแล้ว โลจิสติกส์ก็ดี เรื่องการค้า การท่องเที่ยวต่าง ๆ จะตามมา เม็ดเงินมาลงต้องมีการใช้จ่าย

Q : สิทธิประโยชน์คนไทยน้อยไป

ความจริงเรื่องนี้ ผมได้พูดกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาก่อนที่จะมี EEC ว่า บางทีภาครัฐให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนต่างชาติมาก จนกระทั่งลืมดูไปว่า ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์มากขนาดนั้น ยกตัวอย่าง พวกซัพพลายเออร์ SMEs ของญี่ปุ่น หากอยู่ในญี่ปุ่นต่อก็ลำบาก เพราะฐานการผลิตย้ายมานอกประเทศ กิจการไม่มีลูกหลานสืบทอด จึงต้องย้ายหนีตายมาลงทุนในไทย

ไทยไม่ส่งเสริมก็มาอยู่แล้ว และเมื่อรัฐส่งเสริมต่างชาติมาก ส่งผลให้กิจการของคนไทยสู้ไม่ได้ ทั้งเรื่องต้นทุน เพราะกู้แบงก์ญี่ปุ่นต้นทุนถูกกว่าคนไทย เรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และเรื่องของสายเลือด เป็นชาตินิยมช่วยเหลือกัน ภาครัฐต้องมีลูกเล่นต่าง ๆ ช่วยผู้ผลิตไทย ไม่ให้ผิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) เช่น กำหนดให้บริษัทต่างชาติต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอาจจะ 10% ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ซึ่งประเทศใหญ่ ๆ ในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ทำกัน แต่หน่วยงานภาครัฐไทยไม่เคยคิดเรื่องนี้

Q : ได้รับเงินช่วยจากกองทุน SMEs

เงินถึงมือเอสเอ็มอีในระดับหนึ่งเหมือนกัน เพราะดอกเบี้ยถูก โดยภาพรวม SMEs เติบโตขึ้น แต่เป็นการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมเท่านั้นเอง คนไทยควรจะได้สิทธิประโยชน์มากกว่านี้ เหมือนในอเมริกา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกวันนี้เติบโตขึ้น แต่สุดท้ายต่างชาติถือหุ้นไปหมดแล้ว เมื่อ 20 ปีก่อนยังมีคนไทยเป็นโอว์นเนอร์ (owner) ไปเข้าร่วมประชุมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่พอมาตอนนี้คนไทยเหลือไม่ถึง 5% นอกนั้นเป็นต่างชาติ

Q : ภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมชลบุรี

หากไม่รวมกรุงเทพมหานคร ชลบุรีถือเป็นจังหวัดที่ส่งภาษีเข้าภาครัฐเป็นอันดับ 2 รองจากจังหวัดระยอง ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ประมาณ 5,000

กว่าโรงงาน ชลบุรีมีรายได้ที่เข้าภาครัฐทั้งหมดประมาณ 60% มาจากภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 30% มาจากภาคการท่องเที่ยว และพาณิชย์ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ ชลบุรีเคยเป็นภาคเกษตรมาก่อน โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรีมีครบทุกอย่าง โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในหลายตัวมีความหลากหลายมากกว่าระยอง ฉะนั้นเวลาที่นักอุตสาหกรรมอยากจะมาลงทุน จะโฟกัสมาที่ชลบุรี เพราะมีความพร้อมหลายเรื่องมากกว่า ทั้งท่าเรือ การส่งออกต่าง ๆ

Q : ปัญหาแรงงานในชลบุรี

เมื่อก่อนนี้เราก็เคยคุยกันเรื่องความต้องการแรงงานป้อน EEC จะเกิดแล้ว เราต้องพัฒนาเรื่องคน เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนต่าง ๆ ทางภาครัฐให้ความสำคัญ ก็เกิดการตื่นตัวในจังหวัดชลบุรี มีการรณรงค์กันให้เรียนอาชีวะ ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคนเก่าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้ทุกคนให้ความสำคัญ ไม่จำเป็นต้องมุ่งเรียนแต่มหาวิทยาลัย