“สิธิชัย” รองผู้ว่าฯอุดรธานี เปิดตลาดทุกระดับกระตุ้น เศรษฐกิจอีสานบน 1

สัมภาษณ์

ถือว่าประสบความสำเร็จเล็ก ๆ กับงาน “อีสาน เอ็กซ์โป 2017” ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ของกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี ที่ปั๊มยอดขายได้ตามเป้าแบบเฉียดฉิว 50 กว่าล้านบาท โดยครั้งนี้ถือเป็นงานยักษ์งานแรกที่จังหวัดอุดรธานี หัวหน้ากลุ่มจัดขึ้น และเตรียมตัวจัดครั้งต่อไปวันที่ 8-14 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี

ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “สิธิชัย จินดาหลวง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ฝ่ายเศรษฐกิจ ถึงแนวทางการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดสบายดี

รองสิธิชัยกล่าวว่า กลุ่มสบายดีประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และหนองคาย โดยมีภาพรวมเศรษฐกิจ 3 เรื่อง คือ 1.การเกษตร 2.การค้าการลงทุน 3.การท่องเที่ยว โดยภาพใหญ่ของเกษตรคือพืชเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ที่ขณะนี้ประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ เราพยายามจะเน้นให้ทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น ไม่ให้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเยอะ แต่พัฒนาคุณภาพสินค้า ถ้าเป็นพืชผลอาจจะเป็นรูปลักษณ์แปลกใหม่ เช่น แตงโมลูกเหลี่ยม เพิ่มมูลค่า โดยจังหวัดอุดรธานีมีตลาดอุดรเมืองทอง พื้นที่ 98 ไร่ รองรับเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตร ขั้นตอนต่อไปเตรียมพัฒนาให้เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน แล้วบริหารจัดการด้วยระบบประชารัฐ

ส่วนเรื่องการค้าการลงทุน เนื่องจากของเราเป็นประตูสู่ประเทศ GMS (Greater Mekong Subregion) หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบไปด้วยไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ซึ่งเรามีด่านการค้าชายแดนมากมาย โดยมีจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางบกกับทางอากาศเป็นศูนย์รวมใหญ่

“การค้าการลงทุนอาจจะดร็อปไปบ้าง โดยเฉพาะช่วงที่ สปป.ลาวเก็บแวต 10% ทำให้ช่วงแรกการค้าหายไปครึ่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวก็หายไปเยอะ เพราะกังวลว่าเข้ามาจับจ่ายแล้วนำกลับไปต้องเสียแวต เราเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์อาศัยเวทีในการเจรจาทวิภาคีเพื่อช่วยผ่อนคลายให้เรา และได้ไปพบกงสุลใหญ่ของ สปป.ลาวที่ขอนแก่นเพื่อนำเรียนประเด็นปัญหาเพื่อสะท้อนถึงรัฐบาลลาว ซึ่งท่านได้รับไปแล้ว”


รองผู้ว่าฯอุดรธานีกล่าวอีกว่า ด้วยนโยบายสร้างความเข้มแข็งภายใน สิ่งที่กลุ่มจังหวัดทำขณะนี้คือการสร้างตลาดตั้งแต่ระดับรากหญ้า คือตลาดชุมชน เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตขณะนี้ กระจุกอยู่ส่วนกลาง คือกรุงเทพฯกับปริมณฑลราว 80% ขณะอีกกว่า 70 จังหวัดเพียง 20% เท่านี้ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปอนาคตประเทศจะเดินไปได้ยาก ดังนั้นต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภูมิภาคต้องเติบโตไปด้วยกัน

“ขณะนี้เราพยายามหาสถานที่เพื่อเป็นตลาดให้แก่ชาวบ้าน อาจเป็นตลาดนัดโดยหาทำเลดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมัน สนามบิน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟที่พอจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมสามารถจัดเป็นร้านเล็ก ๆ เป็นตลาดอะไรได้ก็จะพยายามทำ เพื่อกระจายผลผลิตการเกษตรตามฤดูกาล เช่น ตลาดนัดข้าวเปลือก ตลาดนัดข้าวสาร เพื่ออย่างน้อยให้ผู้ผลิตผู้บริโภคได้มีโอกาสมาพบกันโดยตรง และในส่วนของโมเดิร์นเทรดใหญ่ ทางสำนักงานพาณิชย์ก็ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทางโมเดิร์นเทรดช่วยสนับสนุนและซื้อสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่มากขึ้น รวมถึงจัดโรดโชว์ตามภูมิภาคต่าง ๆ จริง ๆ อยากไปต่างประเทศด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ ที่เราไม่สามารถไปจัดโรดโชว์ต่างประเทศได้”

สำหรับงานเอ็กซ์โปที่ผ่านมา มาจากกลุ่มจังหวัดเห็นสมควรว่าทำให้ใหญ่ขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมเรื่องอาชีพชาวบ้าน ไม่ว่าด้านการเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โอท็อป พร้อมกับทำการตลาดด้วย โดยได้รับงบประมาณทั้งหมด 33 ล้านบาทมาจัดงานในนามกลุ่มจังหวัด

ในส่วนภาพรวมของสินค้านั้น คือผ้าทอมือทุกชนิด ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและโด่งดังเป็นวงกว้าง ดังนั้นใครจะใช้ผ้าทอมือต้องนึกถึงอีสาน เราเคยจัดไปแล้วงานหนึ่ง ตอนแรกเราไปใช้คำว่า GMS Textile Expo มีคนท้วงว่า เท็กซ์ไทล์ เป็นการทอระบบโรงงาน ถ้าเป็นผ้าทอมือต้องเป็น Fabric จึงเปลี่ยนภาษาอังกฤษเป็น GMS Fabric Expo

รองผู้ว่าฯอุดรธานีกล่าวอีกว่า ปี 2560 นี้ งบประมาณกลุ่มจังหวัดรวมแล้ว 4,600 ล้านบาท ถือว่าได้มากที่สุดในรอบหลายปีที่งบประมาณกลุ่มจังหวัดอยู่ที่ระดับ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบประมาณที่ได้รับนี้เป็นทั้งงบประมาณกลุ่มจังหวัดและงบประมาณฟังก์ชั่น เฉพาะจังหวัดอุดรธานีได้รับงบประมาณทั้งหมด 678 ล้านบาท แบ่งโครงการเป็นยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว 327.8 ล้านบาท 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน การค้า อุตสาหกรรมและบริการ 126 ล้านบาท และ 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและเชื่อมโยงตลาด 225 ล้านบาท

“ผมว่ามันเป็นการทุ่มเม็ดเงินเพื่อกระตุกในวิถีของระบบเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้เม็ดเงินมันหมุน ตอนนี้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ เฉพาะจังหวัดอุดรธานี เราคาดการณ์ว่าปีนี้อัตราการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานีจะอยู่ที่ 3.2 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559”

พร้อมกับขยายความต่อว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจาก 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือการขยายตัวทางด้านซัพพลายไซด์ จะมีการขยายตัวของภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ ที่บอกว่าขยายตัว คือมันมีการผลิตที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น มีผลผลิตต่าง ๆ เพิ่มขึ้น การบริการก็มีผู้มาใช้บริการ และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนดีมานด์ไซด์ การบริโภคของภาคเอกชนสูงขึ้น และรายจ่ายภาครัฐที่ทุ่มเม็ดเงินลงไปมากขึ้น ทำให้ทั้งซัพพลายไซด์และดีมานด์ไซด์มีแนวโน้มขยายตัว


เป็นความพยายามของทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้ภูมิภาคเติบโต เกิดการเข้มแข็งจากภายใน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง