
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ความไม่พอใจในการจัดทำ “ร่างผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์” ได้คุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง หลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งล่าสุดของกรมโยธาธิการและผังเมือง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นิธินันท์ นภาพร” ผู้บริหารตึกน้ำเงินกรุ๊ป ผู้ประกอบการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ในฐานะรองประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์
ซึ่งเป็นผู้แทนของหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครสวรรค์ (กรอ.จังหวัดนครสวรรค์) ได้มาสะท้อนถึงปัญหา และข้อเสนอของ กรอ.จังหวัดนครสวรรค์
เมืองโตแต่ขยายไม่ได้
วันนี้การค้าขายในจังหวัดนครสวรรค์เติบโตรวดเร็วมาก ถือเป็นประตูสู่ภาคเหนือ โดยปี 2565 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มูลค่า 118,867 ล้านบาท มากเป็นอันดับที่ 3 ของภาคเหนือ และเป็นลำดับที่ 28 ของประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอเมืองมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทั้งเซ็นทรัล บิ๊กซี มาตั้ง ภาคเอกชนเล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัด ต้องการขยับขยายทางด้านพาณิชยกรรม เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง และคาดหวังว่าจะได้เห็นการจัดทำผังเมืองที่จะเสริมสร้างการพัฒนาของเมืองระดับภูมิภาค
แต่มีข้อจำกัดของพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ ทางเหนือเป็นพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์ ประมาณ 2,000-3,000 ไร่ ด้านใต้เป็นที่ดินของทหารหลายหมื่นไร่ ส่วนทางด้านตะวันออกของเมืองติดคุ้งน้ำเจ้าพระยา ถ้าข้ามจากคุ้งน้ำเจ้าพระยาเป็นบึงบอระเพ็ด ดังนั้น นครสวรรค์ขยายตัวได้ด้านทิศตะวันตก
ทิศทางเดียวเท่านั้น
ขณะที่กรมโยธาฯทำร่างผังเมืองขึ้นมาดูเฉพาะเรื่องกายภาพเพียงอย่างเดียวว่า พื้นที่เป็นยังไง น้ำท่วมตรงไหน และกำหนดออกมาลักษณะว่า อำเภอเมืองนครสวรรค์น่าจะค่อย ๆ ขยายตัวเติบโต
โดยกำหนดพื้นที่สีแดง (พื้นที่พาณิชยกรรม) และสีส้ม (พื้นที่หนาแน่นมาก) เฉพาะบริเวณเขตเมืองเก่า ตั้งแต่ข้ามสะพานเดชาติวงศ์มาทางขวาเป็นเขตเมืองเก่า ทางซ้ายเป็นเขตที่ตั้งสถานที่ราชการ แต่พื้นที่เมืองเก่าปัจจุบันเป็นพื้นที่หนาแน่นปานกลาง ถึงหนาแน่นมาก การขยายเมืองในพื้นที่เมืองเก่าทำไม่ได้แล้ว และราคาที่ดินแพงมาก ซึ่งนักลงทุนท้องถิ่นไม่มีความสามารถในการซื้อไปพัฒนา นอกจากทุนส่วนกลางขนาดใหญ่
ขณะที่ภาคเอกชนในจังหวัดอยากให้ขยายเมืองเติบโตไปทางทิศตะวันตกไปเส้นทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ สามารถพัฒนาเมืองได้ แต่ร่างผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่ให้ทำพาณิชยกรรมการค้าขาย ให้รถวิ่งได้อย่างเดียว หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้นครสวรรค์ขยายตัวไม่ได้
ที่สำคัญ ในพื้นที่สีแดง และสีส้ม ผังเมืองกำหนดให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นได้เพียงไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่สีเหลืองตรงชานเมือง และทางเลี่ยงเมือง ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 2,000 ตารางเมตรไม่ได้ ซึ่งการกำหนดร่างผังเมืองออกมาเช่นนี้ กรอ.จังหวัดนครสวรรค์เห็นว่า ไม่เหมาะสมกับทิศทางการเติบโตและพัฒนาเมืองในปัจจุบัน
ในอดีตการจำกัดขนาดอาคารเพียง 2,000 ตารางเมตร อาจจะต้องการปกป้องไม่ให้นายทุนรายใหญ่มาเอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็กในท้องถิ่นได้ แต่ตอนนี้ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นการปิดกั้นการลงทุนของคนในพื้นที่ ต้องกำหนดให้สามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
การกำหนดผังเมืองควรดูในทุกมิติของเมือง ต้องนำเรื่องคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ประชาชนมีรายได้จากไหน ทำมาหากินอะไร บริเวณไหน ตลอดจนมองเห็นอนาคตของเมืองว่าจะพัฒนาไปในมิติใด ขยายไปทางไหน และกำหนดพื้นที่รองรับ
ทั้งนี้ ในการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ กำหนดเวลา 09.00-12.00 น. แต่ทางราชการใช้เวลาตั้งแต่ 09.00-11.45 น. เหลือเวลาให้ประชาชนในพื้นที่พูดเพียง 15 นาที ทั้งที่ควรเปิดให้ประชาชนในพื้นที่พูด ไม่ใช่ทำให้จบ ๆ ไป ปัญหาคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเขียนไว้ในกฎหมาย แต่การปฏิบัติจริงตรงกันข้าม
กรอ.จังหวัดนครสวรรค์มองว่า พระราชบัญญัติการผังเมืองเป็นกฎหมาย “ลิดรอนสิทธิ์” ของภาคประชาชน ควรบังคับใช้อย่างระมัดระวัง โดยถ้าสิทธิในการใช้ที่ดินไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนข้างเคียง หรือสังคมโดยรวม ไม่ควรกำหนดข้อห้ามที่ลิดรอนสิทธิ์ดังกล่าว
ยกตัวอย่าง วันนี้ผังเมืองสีเขียวกำหนดว่า บ้านอยู่อาศัยห้ามก่อสร้างเกินขนาด 1,000 ตารางเมตร แต่หากคนมีที่ดินอยากก่อสร้างบ้านขนาดใหญ่ หากไม่เดือดร้อนใคร จะไปจำกัดสิทธิทำไม
กรอ.จังหวัดดันรื้อร่างใหม่
ล่าสุดทาง กรอ.จังหวัดนครสวรรค์เสนอขอให้มีการแก้ไข การกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2 ประเด็น ประการแรก การใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งสองฝั่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 122 หรือทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันตก ควรกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมือง (ก.2 สีเขียวชนบทและเกษตรกรรม) และดึงดูดนักลงทุนในการสร้างกิจการพาณิชย์ขนาดใหญ่
โดยกำหนดระยะ 1 กิโลเมตรจากริมถนน สามารถสร้างพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ได้ไม่จำกัด ตร.ม. แต่ใช้ข้อกำหนดเรื่องอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมทุกชั้นของอาคารทุกหลังต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร (Floor Area Ratio หรือ FAR) เป็นตัวกำหนด เนื่องจากถนนมีขนาดใหญ่และมีระยะห่างจากเมืองไม่ก่อให้เกิดการจราจรติดขัด และราคาที่ดินยังไม่สูงมากสามารถขยายกิจการได้ เมื่อเทียบกับพื้นที่สีส้มและสีแดงในตัวเมือง และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น
ประการที่ 2 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ที่ภาคเอกชนถือกรรมสิทธิ์ควรเปลี่ยนประเภทของที่ดิน ให้เป็นประเภทเดียวกันกับที่ดินข้างเคียง เพราะราชการได้ออกกรรมสิทธิ์ให้ประชาชนแล้ว การไปกำหนดที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทำให้ประชาชนเดือดร้อน และไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ซึ่งหากไม่สามารถเปลี่ยนได้ ผังเมืองควรให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินเหมือนกับพื้นที่ข้างเคียง
นอกจากนี้ ในส่วนอาคารประเภทที่อยู่อาศัย เป็นอาคารที่ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน การกำหนดพื้นที่อาคารจึงไม่จำเป็น และผังเมืองได้มี FAR กับอัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร (Building Coverage Ratio หรือ BCR) เป็นตัวกำหนดขนาดอาคารอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง ผังเมืองสีเขียว บ้านอยู่อาศัยผังเมืองกำหนดห้ามสร้างเกิน 1,000 ตร.ม. ผมถามว่า หากคนมีที่ดินอยากก่อสร้างบ้านขนาดใหญ่ ถามว่ามันไปเดือดร้อนใคร หากไม่เดือดร้อนใคร ทางราชการจะไปจำกัดสิทธิทำไม
สำหรับอาคารประเภทพาณิชยกรรม และโรงแรม ไม่ควรกำหนดขนาดพื้นที่ เพราะมี FAR กับ BCR เป็นตัวกำหนดขนาดอยู่แล้วเช่นกัน เป็นการใช้ข้อกำหนดที่ซ้ำซ้อน แต่หากไม่สามารถทำได้ ควรกำหนดอาคารตามขนาดเขตทาง โดยที่ดินที่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่เกิน 12 เมตร สร้างได้ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร และที่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางระหว่าง 12 ถึง 20 เมตร สร้างได้ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร และที่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางมากกว่า 20 เมตร สามารถสร้างได้ตาม FAR กับ BCR
การจัดสรรที่ดินควรทำได้ในที่ดินประเภท ก.1 (สีเขียวชนบทและเกษตรกรรม) และ ก.2 เหมือนกับที่กำหนดไว้ในผังเมืองเดิม เพราะการจัดสรรที่ดินมี พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินควบคุมอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดให้ต้องสร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะรองรับ
ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง อันเป็นประโยชน์ต่อรัฐ โครงการยิ่งมีขนาดใหญ่การกำหนดสาธารณูปโภคตลอดจนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต้องมากตามมา รวมถึงโรงมหรสพควรสร้างได้ในที่ดินประเภท ย.2 (สีเหลืองที่อยู่อาศัย หนาแน่นน้อย) และ ก.2 โดยตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางมากกว่า 20 เมตร
ขอปรับ FAR 6 พื้นที่
นอกจากนี้ ขอปรับการกำหนด FAR ในพื้นที่ (1) ย.2 FAR จากเดิม 2.5 : 1 เป็น 4 : 1 หรือเขตทางน้อยกว่า 20 ม. FAR 2.5 : 1 เขตทางตั้งแต่ 20 ม.ขึ้นไป FAR 4 : 1
(2) ย.3 FAR จากเดิม 4 : 1 เป็น 5 : 1 หรือเขตทางน้อยกว่า 20 ม. FAR 4 : 1 เขตทางตั้งแต่ 20 ม.ขึ้นไป FAR 5 : 1
(3) พ. FAR จากเดิม 6 : 1 เป็น 10 : 1 หรือเขตทางน้อยกว่า 12 ม. FAR 6 : 1 เขตทางระหว่าง 12 ม. ถึง 20 ม. FAR 8 : 1 เขตทางตั้งแต่ 20 ม.ขึ้นไป FAR 10 : 1
(4) ก.1 FAR จากเดิม 0.8 : 1 เป็น 1.5 : 1 หรือเขตทางน้อยกว่า 20 ม. FAR 1 : 1 เขตทางตั้งแต่ 20 ม.ขึ้นไป FAR 1.5 : 1
(5) ก.2 FAR จากเดิม 1 : 1 เป็น 4 : 1 หรือเขตทางน้อยกว่า 20 ม. FAR 2.5 : 1 เขตทางตั้งแต่ 20 ม.ขึ้นไป FAR 4 : 1
(6) ก.3 FAR จากเดิม 0.8 : 1 เป็น 1.5 : 1 หรือเขตทางน้อยกว่า 20 ม. FAR 1 : 1 เขตทางตั้งแต่ 20 ม.ขึ้นไป FAR 1.5 : 1
ด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อให้จังหวัดนครสวรรค์เติบโตไปอย่างมีทิศทาง อยากเพิ่มถนนอีกสองสาย คือ ถนนมหาเทพ มีถนนเชื่อมไปเลี่ยงเมือง (ทล.122) และถนนพรหมนิมิต มีถนนเชื่อมไปเลี่ยงเมือง (ทล.122)