ตราด-สระแก้วป่วน ! ขาดแคลนแรงงาน

ขาดแคลนแรงงาน - ชาวสวนจังหวัดตราดกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้ที่กำลังออกช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ขณะที่เจ้าของไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ซึ่งปีนี้มีผลผลิตออกมามาก

ตราดป่วนขาดแรงงานเก็บผลไม้ ด้านสระแก้วขาดแรงงานต่างด้าวตัดอ้อยหนัก รัฐบาลเขมรเข้ม ห้ามจังหวัดโซนในมาทำงาน

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและการส่งออกจังหวัดตราด จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการและชาวสวนต่างหวั่นวิตกว่าจะไม่สามารถจัดหาแรงงานต่างชาติกัมพูชา ประมาณ 5,000-10,000 คน มาทำงานให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้

เนื่องจากมีปัญหาการจัดทำหนังสือผ่านแดน (border pass) ล่าช้านานกว่า 10 วัน และมีข้อกำหนดทำได้เฉพาะประชาชนจังหวัดพระตะบอง ซึ่งมีพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบกับการใช้แรงงานในฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ หากใช้บริการนายหน้าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หัวละ 4,000 บาท

ทางหอการค้าจึงได้เจรจาร่วมกับนายเฮือง โซ๊ะกน (Mr. Hoeurung Sokun) รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง เพื่อขออนุโลมให้ประชาชนชาวกัมพูชาที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพระตะบองทำพาสปอร์ตได้ โดยยื่นเอกสาร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ให้เจ้าหน้าที่ตำบล (ตำรวจบ้าน) ออกหนังสือรับรองและส่งเรื่องไปอำเภอออกบัตรพำนักอาศัย เพื่อทำบัตรบอร์เดอร์พาส

“สภาพแท้จริงแรงงานกัมพูชามาจากจังหวัดที่ห่างไกลชายแดน การผ่อนปรนให้ทำบอร์เดอร์พาสที่พระตะบองจะทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาต้องเสียเวลามารับคนงานจากกำปอต รอพาสปอร์ตที่ชายแดนอำเภอสำรูด 6-7 วัน ขณะที่ชาวสวนรายย่อยต้องการแรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้เพียง 4-5 คนในช่วงสั้น ๆ ใช้เวลาเก็บผลไม้ 5-10 วัน ขณะที่การทำบอร์เดอร์พาสผ่านนายหน้ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 บาท อยู่ได้ 2 ปี สภาพอย่างนี้ต้องแก้ไขผ่อนปรนเฉพาะชนิดงาน ปัญหาแรงงานขาดแคลนเช่นนี้อนาคตผู้ประกอบการอาจย้ายไปลงทุนในกัมพูชาแทน”

ขาดแคลนแรงงาน – ชาวสวนจังหวัดตราดกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้ที่กำลังออกช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ขณะที่เจ้าของไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ซึ่งปีนี้มีผลผลิตออกมามาก

นายเฮือง โซ๊ะกน (Mr. Hoeurung Sokun) รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง กล่าวว่า การผ่อนผันให้ประชาชนต่างจังหวัดมาทำบอร์เดอร์พาสในจังหวัดพระตะบอง และให้อำเภอออกหนังสือรับรองออกบัตรพำนักอาศัยให้เพื่อนำไปขอทำบอร์เดอร์พาส ไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นการอะลุ้มอล่วยกัน ขณะนี้ได้ทำบอร์เดอร์พาสไปแล้ว 9,000 คน ใน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ทั้งนี้ ต้องการให้ตราดรับรองบอร์เดอร์พาสเช่นเดียวกับจันทบุรี ไม่ใช่เฉพาะอำเภอชายแดน เพราะมีชาวกัมพูชาต้องการเดินทางมาท่องเที่ยว หรือตรวจรักษาสุขภาพนอกจากการเข้ามาทำงาน

Advertisment

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดสระแก้ว กว่า 600 คน มาร้องเรียนให้ช่วยเหลือ เนื่องจากยังมีปริมาณอ้อยสดตกค้างภายในไร่กว่าร้อยละ 60 ตัดไม่ทันส่งโรงงาน สำหรับปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ที่เป็นแรงงานชาวกัมพูชา ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ หากไม่อยู่ในจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา และปัญหาอ้อยที่ยังเหลืออยู่อีกจำนวนมากในพื้นที่ ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมติให้ขยายเวลาการปิดหีบออกไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 แล้ว

 

Advertisment