
สภาอุตฯ-หอการค้าตราด ชงตั้งคณะกรรมการคู่ขนานระหว่างศึกษาแผนสร้าง “สะพานเชื่อมเกาะช้าง” มูลค่า 1 หมื่นล้าน รองรับปัญหามลพิษในอนาคต ทั้งรถจำนวนมาก ขยะ น้ำเสีย เหตุเกาะมีพื้นที่จำกัด
วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เดินทางลงไปจังหวัดตราดเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจบริเวณที่จะสร้างสะพานข้ามเกาะช้างนั้น
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ กทพ.ประสานงานกับกรมทางหลวงชนบทดำเนินการสำรวจและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง ตามข้อเสนอของจังหวัดตราด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง
กทพ.จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัทดำเนินการรับฟังข้อคิดเห็นงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม “โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้างจังหวัดตราด” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดตราด (กรอ.จังหวัดตราด) เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 เนื่องจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งแนวเส้นทางที่จะดำเนินการ
ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ 30 พ.ค. 67 ใช้ระยะเวลาศึกษารวม 2 ปี ก่อนที่จะขออนุมัติการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และขออนุมัติโครงการ ดำเนินการก่อสร้างปี 2572 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2576 มูลค่าของโครงการประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวในเบื้องต้นได้มีแนวเส้นทางเลือกในเบื้องต้นจากการศึกษาเดิม 2 แนวเส้นทางคือ แนวทางเลือกที่ 1 จุดเริ่มต้น : บนถนนทางหลวงหมายเลข 3148 บริเวณช่วงบ้านยายม่อมถึงบ้านหนองเตียน อำเภอแหลมงอบ จุดสิ้นสุด : บนถนน อบจ.ตร. บริเวณบ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง ระยะทางประมาณ 8.2 กิโลเมตร และแนวทางเลือกที่ 2 จุดเริ่มต้น : บนถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 4006 บริเวณบ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จุดสิ้นสุด : บนถนน อบจ.ตร. บริเวณอ่าวสับปะรด ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง ระยะทางประมาณ 5.59 กิโลเมตร
“ภายใน 2 ปี กทพ.จะลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อให้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งในเบื้องต้นเสนอ 2 แนวทาง ในการศึกษาพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อาจจะมีทางเลือกจุดขึ้น-ลงฝั่งแหลมงอบ-เกาะช้างที่เหมาะสมยังเสนอเพิ่มเติมได้ในเฟสแรก ช่วงระยะเวลา 8 เดือน ส่วนค่าก่อสร้าง ถ้าระยะทางยาวขึ้นสามารถสร้างความเจริญให้ภูมิภาคตะวันออกหากต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐบาลสนับสนุนมีความเป็นไปได้ หาก กทพ.เลือกจะเลือกเส้นที่สั้นที่สุด เพราะโครงการเกาะช้างปริมาณผู้ใช้รถใช้ถนนไม่มากเท่าภูเก็ต สมุย“ นายสุรเชษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 1 จุดเริ่มต้น : บนถนนทางหลวงหมายเลข 3148 บริเวณช่วงบ้านยายม่อมถึงบ้านหนองเตียน อำเภอแหลมงอบ จุดสิ้นสุด : บนถนน อบจ.ตร. บริเวณบ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง ระยะทางประมาณ 8.2 กิโลเมตร เพราะเป็นเส้นทางที่จะผ่าน อ.แหลมงอบไปตัวเมือง จ.ตราด จะทำให้เศรษฐกิจจังหวัดตราดดีขึ้น และจุดขึ้น-ลงที่เกาะช้างบ้านด่านใหม่จะมีการสร้างท่าเรือ สำนักงานโยธาธิการได้สำรวจจุดขึ้น-ลง และออกแบบขยายเขตทางไว้แล้ว อาจจะใช้งานร่วมกันได้ แต่อาจจะมีปัญหาเวณคืนที่ดินทำให้การทำงานล่าช้า
ทางด้าน ทพญ.วิภา สุเนตร ประธานหอการค้า จ.ตราด และนายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองลักษณ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า เกาะช้างมีพื้นที่ใช้ประโยชน์น้อยประมาณ 10% ส่วนใหญ่ 85% เป็นพื้นที่อุทยานฯ และอีก 5% เป็นของกรมธนารักษ์ การเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณรถยนต์ สถานที่จอดรถ ควรมีการศึกษาไปด้วย เพราะในปัจจุบันมีปัญหาอยู่แล้ว รวมทั้งการวางแผนรองรับถนน 4 เลน หรือ 6 เลน เพราะเกาะช้างมีเส้นทางเดียวที่วิ่งรอบเกาะ จะรองรับได้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องการกำจัดขยะ น้ำเสีย มลพิษต่าง ๆ หากปริมาณรถไปเกาะช้างจำนวนมากน่าจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งศึกษา 10-20 ปีข้างหน้าจะวาง Positioning เกาะช้างอย่างไร อนาคตมีสะพานแล้วท้องถิ่นต้องเตรียมตัวจะเป็นอย่างไรต่อ
“โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้างจังหวัดตราด” ผลการสำรวจเป็นความต้องการของประชาชน จากปัญหาความไม่สะดวกในการขนส่ง การเดินทางจากฝั่งไปเกาะช้าง ทั้งจากความจำเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และการท่องเที่ยว ที่มีทางเลือกแค่เรือเฟอร์รี่ ปี 2566 กระทรวงคมนาคมได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประสานกับกรมทางหลวงชนบทสำรวจออกแบบสะพาน โครงการเริ่มดำเนินการศึกษา 30 พ.ค. 67 ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 720 วัน ก่อนขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และขออนุมัติดำเนินก่อสร้าง ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปี 2572 ใช้เวลา 4 ปี เปิดให้บริการได้ปี 2576