
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์
หลายปีที่ผ่านมา หลายจังหวัดมีการขยายตัวของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลรูปธรรมปรากฏชัดเจนเมื่อก้าวย่างเข้าสู่ฤดูฝน บวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
ส่งผลให้เกิด “ปัญหาน้ำท่วม” ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และเริ่มเห็นพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อนมีมากขึ้น จากการขยายตัวของชุมชน
โดยเฉพาะเมื่อมีการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร โรงงานกีดขวางทางน้ำหลาก การสร้างอาคาร บ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำ การให้ถมลำรางสาธารณะที่ใช้ระบายน้ำ ถมพื้นที่แก้มลิงที่ใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ฯลฯ
ทั้งที่ปี 2566 ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เล็งเห็นปัญหา และได้จัดทำ “ผังน้ำ” ใน 22 ลุ่มน้ำขึ้นมา ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นให้คนในพื้นที่ได้รับทราบมาตลอด
มีแผนที่ระบุชัดถึงตำแหน่ง “พื้นที่น้ำหลาก” ผ่านตรงไหน “พื้นที่น้ำนอง” น้ำท่วมขังเป็นประจำในฤดูน้ำหลากอยู่บริเวณใด เพื่อให้หน่วยงานผู้มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินพิจารณา และนำไปบอกกล่าวเอกชนที่มีโฉนดตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวว่าควรทำอย่างไร
แต่ดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจ !
ตัวอย่างปรากฏชัด “จังหวัดภูเก็ต” เริ่มเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากในฤดูฝน หนักสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้มากถึง 115.4 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักทั้ง 3 อำเภอ อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ อ.ถลาง
ตามด้วยเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 ที่ฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่กลางคืนถึงเช้าอีกวัน ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาไหลลงมา ถล่มซ้ำด้วยดินโคลนทะลัก ดังปรากฏภาพ 2 หมู่บ้านจัดสรรใหญ่จมบาดาล
หน้าเศร้าใจยิ่งนัก เมื่อมีประชาชนที่อาศัยอยู่บอกว่า “ซื้อบ้านมาราคาหลังละ 4 ล้านบาท อยู่อาศัยมา 5 ปี ประสบปัญหาน้ำท่วมมาแล้ว 8 ครั้ง” !
ทั้งที่ภูเก็ตเป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล แต่น้ำไม่สามารถไหลออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว เพราะ “ทางน้ำถูกกีดขวาง” !
และยิ่งน่ากังวลหนักขึ้น เมื่อศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยของบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA ได้สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต ไตรมาส 1/67 มีการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ทั้งบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียมอยู่ระหว่างขายถึง 500 โครงการ มูลค่ารวม 4.7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้น ลำพังภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ไหว แต่ทุกคนคงต้องช่วยกัน โดยเฉพาะ “สำนึกรับผิดชอบ” ไม่ก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ จะช่วยผ่อนปัญหาหนักให้เป็นเบาได้ด้วยมือของทุกคนเอง