6 จังหวัด kick off ปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำ เร่งกำจัดวงจรระบาด

ประจวบฯ-ระยอง-สงขลา-สมุทรสาคร-จันทบุรี-เพชรบุรี kick off ปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำ จับบริโภคประกอบอาหาร ส่งโรงงานปลาป่น ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หวังเร่งกำจัดวงจรระบาด กระทบระบบนิเวศ

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 “ปลาหมอคางดำ” ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ที่กระทบต่อระบบนิเวศและสร้างปัญหาให้กับชาวประมงรวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ จากการแพร่พันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ชายฝั่งและลำน้ำธรรมชาติกระจายไปกว่า 16 จังหวัด

ล่าสุดกรมประมงยืนยันว่าไม่มีพิษภัยต่อมนุษย์ สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้ โดยมีราคารับซื้อ 15 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้หลายจังหวัดเริ่ม kick off ไล่ล่าปลาหมอคางดำกันอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

จังหวัดระยอง

วันนี้ (18 ก.ค. 67) ประมงจังหวัดระยองจัดกิจกรรมปล่อยปลานักล่า เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ที่บริเวณแม่น้ำระยอง จุดพระเจดีย์กลางน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง โดยมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวไปจำนวน 5,000 ตัว ลงแม่น้ำระยอง

ADVERTISMENT

บริเวณจุดพระเจดีย์กลางน้ำดังกล่าว ซึ่งพบว่าจุดนี้มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำปุ๋ยหมักจากปลาหมอคางดำ และการปรุงอาหารเมนูจากปลาหมอคางดำ ได้แก่ขนมจีนน้ำยาและปลาหมอคางดำทอดกรอบ

นอกจากนี้ วานนี้ (17 ก.ค.67) ได้นำอวนลงไปล้อมจับปลาหมอคางดำที่บริเวณคลองหน้าหอพระพุทธอังคีรส สวนศรีเมือง หลังสำนักงานเทศบาลนครระยองพบปลาหมอคางดำขนาดเล็กจำนวนมาก โดยหลังจากนี้จะนำปลาหมอคางดำดังกล่าวไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งการจับปลาหมอคางดำดังกล่าวเป็นการเริ่ม kick off กำจัดทั้งจังหวัด

ADVERTISMENT

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประจวบฯ ร่วมกับองค์กรชาวประมงท้องถิ่น เตรียมเปิดปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำที่คลองเขาตะเกียบ อ.หัวหิน ในวันพรุ่งนี้ ( 19 ก.ค. 67) ที่คลองเขาตะเกียบ บริเวณสะพานหน้าวัดเขาไกรลาส

ระดมเครื่องมือประมงมาช่วยกันจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ส่งขายให้กับโรงงานปลาป่นในจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาครเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์

จังหวัดสงขลา

วานนี้ (17 ก.ค.67 ) จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้จัดกิจกรรม “Kick off ล่าปลาหมอคางดำ ในคลองพังยาง” ที่บริเวณคลองพังยาง-ระวะ หมู่ที่ 4 ตำบลระวะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการและให้ความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำ การแข่งขันจับปลาหมอคางดำ การนำปลาหมอคางดำมาประกอบอาหาร อาทิ แกงส้ม ปลาทอด ต้มส้ม น้ำแกงขนมจีน และกิจกรรมปล่อยปลากะพงเพื่อควบคุมปริมาณลูกปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ

จังหวัดสมุทรสาคร

วันที่ 16 ก.ค. 67 ประมงสมุทรสาครเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาครและทุกจังหวัดร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำ โดยประกาศราคารับซื้อปลาหมอคางดำส่งขายโรงงานปลาป่นในพื้นที่ พร้อมเปิดแคมเปญ 4 จ “เจอ แจ้ง จับ จบ”

จังหวัดจันทบุรี

วันที่ 12 ก.ค. 67 จันทบุรี จัดกิจกรรม “ล่าปลาหมอคางดำ มหันตภัยลุ่มน้ำพังราด” โดยเริ่ม kick-off พื้นที่ตำบลช้างข้ามเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลลุ่มน้ำพังราด ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเรือเล็กพื้นบ้าน และในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา พบปัญหาจากปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นปลาที่ดุร้าย และทำลายระบบนิเวศในท้องทะเล ทำให้สัตว์น้ำสูญหายเกือบหมด

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันประกอบอาหารจากปลาหมอคางดำ จัดนิทรรศการเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ และปล่อยปลากะพง รวมถึงได้ประสานความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยบูรพาในการวิจัยและแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย

เพชรบุรี

วันที่ 10 ก.ค. 67 เพชรบุรีจัดกิจกรรมการลงแขกลงคลองกำจัดปลาหมอคางดำ ณ คลองบางทะลุ หมู่ 3 ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้งาน Kick off “โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี